สนจ. จัด 105 ปี จุฬาฯ ชูภารกิจยืดอายุคนไทยให้ยืนยาวเกินร้อยปี ชวนพี่น้องนิสิตทำกิจกรรมเพื่อสังคมบนโลกออนไลน์

ข่าวทั่วไป Monday March 28, 2022 11:36 —ThaiPR.net

สนจ. จัด 105 ปี จุฬาฯ  ชูภารกิจยืดอายุคนไทยให้ยืนยาวเกินร้อยปี  ชวนพี่น้องนิสิตทำกิจกรรมเพื่อสังคมบนโลกออนไลน์

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) จัดงานแถลงข่าว 105 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาฯ สนับสนุนภารกิจยืดอายุคนไทยให้ยืนยาวเกินร้อยปี โดยมี ผศ. ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน และอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ พร้อมด้วยประธานจัดงานฝ่ายต่างๆ ได้แก่ ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน, ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร, ดร.ศรุต วานิชพันธุ์, มกร พงษ์ธนพฤกษ์, อธิศีล ธัญญ์ ณ ป้อมเพชร และตัวแทนนิสิตปัจจุบัน จ๋า-ณปภัช วรพฤทธานนท์ BNK48 รุ่น 1 ร่วมแถลง ณ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ

ผศ. ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต จุฬาฯ เปิดเผยว่า "ในปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาปนา ครบ 105 ปี ซึ่งความสำเร็จที่ผ่านมา สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญยิ่ง ในการสนับสนุน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจากองค์ความรู้ของประเทศ สู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม เป็นเสาหลักของประเทศ และมุ่งสู่การยอมรับในเวทีระดับนานาชาติ ด้วยผลงานนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือสังคม และเป็นที่ประจักษ์เด่นชัด ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในศตวรรษที่ 2 นี้ จุฬาฯ ยังคงมุ่งมั่นเพื่อตอบโจทย์สังคมในวงที่กว้างขึ้น จากความพร้อมของจุฬาฯ ทั้งเรื่องขององค์ความรู้ คณาจารย์ นักวิจัย นิสิตปัจจุบัน และการสนับสนุนจากพี่นิสิตเก่า ทำให้คณาจารย์และนักวิจัยของเราไม่เคยหยุดคิดและทำ โดยโครงการที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ อาทิ โครงการวิจัยช่อดอกกัญชาชีวภาพเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข, โครงการจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตชุดตรวจสารพันธุกรรมแบบรวดเร็ว-พกพา (RT-LAMP) คณะวิทยาศาสตร์, โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช (BMERC : Biomedical Engineering Research Center) คณะวิศวกรรมศาสตร์, โครงการวิจัยวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, ศูนย์ระดับภูมิภาคเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Regional Center of Robotics Technology) คณะวิศวกรรมศาสตร์ และโครงการจุฬาอารี วิทยาลัยประชากรศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ยังสอดคล้องกับภารกิจของสนจ. ในปีนี้ ที่ต้องการยืดอายุคนไทยให้ยืนยาวเกินร้อยปีอย่างมีคุณภาพ"

ด้านนายก สนจ. อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย เผยว่า "การฉลอง 105 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาฯ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องภายใต้แนวคิด "จุฬาฯ สร้างสรรค์ยกกำลังสิบ" กับภารกิจยืดอายุ คนไทยให้ยืนยาวเกินร้อยปี ผ่าน 10 กิจกรรมที่นิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่า องค์กร ประชาชนทั่วไป สามารถ มีส่วนร่วมได้ทั้งในแบบออฟไลน์และออนไลน์ตลอดทั้งปี

โดยกิจกรรมได้เริ่มต้น ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมนี้ รวมเลือดสีชมพู CU Blood บริจาคโลหิตให้กับ หน่วยบริการโลหิตสภากาชาดไทย หรือโรงพยาบาลที่ใกล้ท่าน เพียงแจ้งรหัสบริจาค B0157 ร่วมบริจาคได้ จนถึง 30 เมษายน, การแข่งขัน RoV-Chula Alumni Charity Tournament 2022 สนับสนุนการจัดทำ กล่องรอดตาย, กิจกรรมจุฬาฯ ชวนทำดี DSR (Digital Social Responsibility) ชวนน้องพี่นิสิตจุฬาฯ มาร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่เพื่อสังคมบนโลกดิจิทัล, กิจกรรมวิ่ง ห. เตรียมฟิตร่างกายให้พร้อมเดิน วิ่ง ปั่น ซีมะโด่ง VIRTUAL WALK BIKE RUN 2022 รวมไปถึงกิจกรรม I'm Possible Run วิ่งหฤหรรษ์ บันดาลใจ ที่จะชวน ทุกคนมาเอาชนะทุกความท้าทายกับระยะทางวิ่งวัดใจ 105 กิโลเมตร ใน 105 วัน, คอนเสิร์ต Be Musical Charity Concert เพื่อระดมทุนผ่าตัดหัวใจให้น้องมูลนิธิเด็กโรคหัวใจ, งานปิยมหาราชานุสรณ์ 2565 และช่วงปลายปี เดินเที่ยวดื่มด่ำกับบรรยากาศเคล้าเสียงเพลงในรั้วจามจุรีครั้งแรกกับ Chula Music Walk เที่ยวเพลินเดินจุฬาฯ ปิดท้ายเอาใจนักช้อปกับ 2 กิจกรรมร้านออนไลน์จำหน่ายของที่ระลึกประจำงาน Chula 105 และของที่ระลึก ลิมิเตด เอดิชั่น ดีไซน์โดยแบรนด์ดัง ภายใต้ร้าน "Chula Alumni" บน SHOPEE และ LINE My Shop สามารถ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละกิจกรรมทางเพจ Chulalongkorn University และ Chula Alumni"

ส่วน ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน อุปนายก สนจ. เสริมว่า "ในปีนี้ จุฬาฯ ขับเคลื่อนกิจกรรมมิติใหม่ๆ เพื่อสังคม พร้อมรับใช้ประชาชนด้วยหัวใจดิจิทัล ชวนทำดี "ดี เอส อาร์" (DSR :Digital Social Responsibility) และเป็นการเน้นย้ำค่านิยม (Core Value) ของจุฬาฯ ทั้ง 4S สมาร์ท (Smart) เด็กจุฬาฯ เก่ง มีประสิทธิภาพ พร้อม ช่วยเหลือและรับใช้สังคม, โซลูชั่น (Solution) แก้ปัญหาเป็น ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น, แชริ่ง (Sharing) มีมนุษยสัมพันธ์ดี เป็นที่รัก และโซเชียล แวลู (Social Value) การรับใช้ประชาชน โดยจะเป็นการทำกิจกรรมผ่านการใช้แท็บเลต จำนวน 200 ชม. แบ่งเป็น 30 ชม. แรกกับกูรูคนดังที่จะมาเติมทักษะสำคัญต่างๆ เป็นพื้นฐานในการลงมือปฏิบัติจริง อาทิ ดีไซน์ ธิงกิ้ง (Design Thinking), ลีดเดอร์ชิพ (Leadership), โปรเจค เมนเนจเมนท์ (Project Management) เป็นต้น และอีก 170 ชม. จะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง (Learning by Doing) กับพี่ๆ เมนเทอร์นิสิตเก่าคนเก่ง เพื่อสอนทักษะและประสบการณ์ให้น้องๆ เรียนรู้อย่างมีความสุข และสนุกกับ การทำกิจกรรมดิจิทัลผ่านแท็บเลต สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=29tVv5c3eYs"

นรุตม์ ยอดวานิช ตัวแทนนิสิตเก่ารุ่นพี่เมนเทอร์ที่จะเข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า "DSR ทำให้เราเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับควบคู่กันได้ น้องๆ จะได้เรียนรู้วิธีการทำงานและประสบการณ์จากรุ่นพี่ ส่วนรุ่นพี่จะได้เติมองค์ความรู้ใหม่ ได้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ แม้เราจะมองโลกในมุมที่ต่างกัน แต่เราจะเติมเต็มกันและกัน ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมในส่วนรวม"

ตัวแทนนิสิตปัจจุบัน จ๋า-ณปภัช วรพฤทธานนท์ BNK48 รุ่น 1 นิสิตและอาสาสมัครกล่องรอดตาย คณะ เภสัชศาสตร์ เผยว่า "จ๋ามีโอกาสได้เป็นอาสาสมัครกล่องรอดตายตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ได้ช่วยผู้ป่วยที่ติดโควิดจริงๆ จ๋าได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยโควิดฉุกเฉินหรือสีแดง ช่วงแรกๆ ก็ยังทำอะไรไม่ค่อยได้มาก จนได้รุ่นพี่นิสิตเก่าที่เข้าร่วมโครงการนี้คอยแนะนำและให้คำปรึกษา พี่จะสอนตั้งแต่การสอบถาม ติดตามอาการ การส่งกล่องรอดตาย การช่วยประสานงาน จนถึงหาเตียงให้กับผู้ป่วย ครั้งแรกที่จ๋าหาเตียงให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินได้สำเร็จ รู้สึกซาบซึ้งและตื้นตันเป็นอย่างมาก ที่สำคัญ เราภูมิใจในตัวเองที่เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อน ได้จริง และเมื่อทราบว่า รุ่นพี่นิสิตเก่ากำลังจะมีโครงการ ชวนทำดี DSR สำหรับนิสิตปัจจุบันก็รู้สึกสนใจ และ จ๋าจะสมัครเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้อย่างแน่นอน"

สนจ. ขอเชิญชวนน้องพี่นิสิตมาร่วมเป็นจิตอาสาและทำกิจกรรมเพื่อสังคมบนโลกออนไลน์ กับ 8 กิจกรรม ได้แก่ กล่องรอดตาย, สตาร์ทอัพ เรียนรู้วิธีการทำจากรุ่นพี่กูรู, มีเดีย คอนเทน ครีเอเตอร์ (Media Content Creator), จุฬาฯ มาสเตอร์คลาส (Chula Master Class), มิวสิค แชร์ริตี้ (Music Charity) เรียนรู้ เรื่องดนตรี, ซียู บลัด (CU Blood) การบริจาคเลือดกับจุฬาฯ, อีสปอร์ต (E-Sport) การบริหารจัดการกีฬาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และ ไอซีที ซัพพอร์ติ่ง เซอร์วิส (ICT Supporting Service) เรียนรู้วิธีการจัดการปัญหาพื้นฐานด้านไอทีด้วยตนเอง สำหรับน้องนิสิต เพียงสมัครผ่าน CU Nex รับแท็บแลตทันทีที่ผ่านการคัดเลือก และเป็นเจ้าของเมื่อทำกิจกรรมครบ 200 ชั่วโมง คัดเลือกเพียง 120 คนเท่านั้น พี่นิสิตเก่าร่วมสมัคร เป็นเมนเทอร์ได้ทาง www.จุฬาฯชวนทำดี.com เพราะทำดีได้ไม่มีวันหยุด

สำหรับกิจกรรม 105 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาฯ ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีนี้ ทั้งการสมัครร่วมกิจกรรมและบริจาคเงินสนับสนุนการพัฒนาผ่านสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ สามารถติดตามรายละเอียดทั้งหมดได้ทางเพจ Chulalongkorn University และ Chula Alumni


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ