ทางเดินอาหารของคนเราประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่หลักในการย่อยสลายสารอาหารโมเลกุลใหญ่ให้เล็กลง โดยอาศัยการทำงานของกรดเกลือ (Hydrochloric Acid) เพื่อให้ง่ายต่อการดูดซึมที่ลำไส้เล็ก
มะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกบริเวณของกระเพาะอาหาร เมื่อมะเร็งเกิดการขยายตัวขึ้นจะส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ เช่น น้ำเหลือง ตับ ตับอ่อน ลำไส้ ปอด และรังไข่ เป็นต้น
โดยปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร อาจประกอบไปด้วย
- การอักเสบของกระเพาะอาหารเรื้อรัง การรับประทานอาหารบางอย่างที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ เช่น อาหารปิ้งย่าง
- การติดเชื้อเอชไพโลไร (Helicobacter Pylori) เชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เข้าสู่ร่างกายและอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ และแผลในกระเพาะอาหาร
- ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร-ปัจจัยทางด้านพฤติกรรมและสิ่งแวดล้ม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา รูปร่างอ้วนหรือน้ำหนักเกิน การบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของสารประกอบเอ็น-ไนโตรโซ
- โรคประจำตัว เช่น ภาวะโลหิตจางเรื้อรังและรุนแรง ที่พบร่วมกับกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
อาการของผู้ป่วยระยะแรกมักไม่อาการแสดงใดๆ ที่รุนแรงมากนัก บางรายมักพบอาการคล้ายผู้ป่วยโรคกระเพาะอักเสบ หรือ แผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก อาการปวดท้อง จุกท้องบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืด แต่หากโรคเริ่มมีภาวะลุกลามขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการที่รุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหารทำให้มีอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ายยางมะตอย ทั้งนี้การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติเผ็ดจัด เปรี้ยวจัดของหมักดอง ของทอดของมัน ก็เป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้
ข้อมูลดีๆ จาก.. นพ.จุลศักดิ์ บุญไทย ศัลยแพทย์ ศูนย์ศัลกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว