กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเที่ยวดำน้ำชมปะการังในช่วงฤดูร้อนนี้ ให้ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง และเลือกอุปกรณ์และเวลาในการดำน้ำให้เหมาะสม ไม่ดำน้ำในช่วงที่คลื่นลมแรงหรือบริเวณที่มีโขดหิน หลีกเลี่ยงการดำน้ำตามลำพัง เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้มีคนคอยช่วยเหลือ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อน สถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมไปมากที่สุด ได้แก่ ทะเล ซึ่งกิจกรรมหนึ่งที่นิยมมากในการไปท่องเที่ยวทะเล ก็คือ การดำน้ำชมปะการัง โดยรูปแบบการดำน้ำมี 2 แบบ ได้แก่ Snorkelling เป็นการดำน้ำบริเวณผิวน้ำตามชายฝั่ง เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการชมปะการังในน้ำตื้น และแบบ SCUBA คือ การดำน้ำในระดับความลึกตั้งแต่ 18 เมตรขึ้นไป ดังนั้น เพื่อให้การดำน้ำเป็นไปอย่างปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะผู้ที่เดินทางไปดำน้ำเที่ยวชมปะการังใต้ทะเลให้ปฏิบัติตน ดังนี้ ก่อนลงดำน้ำ ควรตรวจสอบสภาพอากาศ หากมีฝนตกหนัก หรือคลื่นกระแสน้ำพัดแรง ควรเลื่อนการดำน้ำออกไปหรือเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยว โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำน้ำมากที่สุด ได้แก่ ช่วงเวลากลางวัน อีกทั้งควรเลือกดำน้ำในสถานที่ที่เหมาะสมหรือได้รับอนุญาตเท่านั้น หลีกเลี่ยงการดำน้ำในบริเวณที่มีหน้าหินแหลมคม เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกหินบาดได้ สำหรับผู้ที่ดำน้ำในน้ำลึกควรผ่านการฝึกอบรมการดำน้ำที่ถูกต้อง ระหว่างดำน้ำ ควรเลือกใช้อุปกรณ์ดำน้ำที่เหมาะสมกับการใช้งาน ไม่ดำน้ำตามลำพัง ควรเกาะกลุ่มดำน้ำเพื่อป้องกันการพลัดหลง และหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้มีคนคอยช่วยเหลือ กรณีดำน้ำในเขตที่มีนักท่องเที่ยวอื่น ควรระมัดระวังสกูตเตอร์ เรือเร็ว หรือกีฬาทางน้ำแบบอื่น เพราะอาจถูกชนหรือใบพัดฟันได้ รวมทั้งควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่ที่เข้าไปดำน้ำอย่างเคร่งครัด เช่น ข้อห้ามต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติทางทะเล เป็นต้น สำหรับผู้ที่ดำน้ำแบบ Snorkelling ควรสวมใส่ชูชีพไว้เสมอ และไม่ควรเสี่ยงดำน้ำชมปะการังในระดับที่ลึกมากเกินไป เพราะอาจได้รับอันตราย ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น พบสัตว์ในขณะดำน้ำ ควรตั้งสติให้มั่น พยายามอย่าเคลื่อนไหว และควรรอจนกว่าสัตว์เหล่านั้นว่ายจากไป เพราะสัตว์อาจตกใจและเข้าจู่โจมได้ กรณีถูกกระแสน้ำซัด อย่าว่ายสวนหรือว่ายทวนน้ำ เพราะจะทำให้เหนื่อยง่ายให้ใช้วิธีลอยตัวไปตามกระแสน้ำ และพยายามหาที่ยึดเกาะรอจนกว่า จะมีคนมาช่วยเหลือ หรือมีเรือมารับ ที่สำคัญหลังจากการดำน้ำทุกครั้ง ควรนับจำนวนคนหลังดำน้ำเสมอ เพื่อป้องกันการพลัดหาย และเวลาขึ้นจากน้ำ ควรขึ้นเรือทางบันได อย่าปีนขึ้นจากน้ำ เพื่อป้องกันการครูดกับข้างเรือ ทำให้ได้รับบาดเจ็บได้