จากความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนแก่คนพิการ ภายใต้แนวคิด "ให้เบ็ดดีกว่าให้ปลา" โอสถสภาจึงให้การสนับสนุนและช่วยเหลือคนพิการด้วยการมอบอาชีพที่มั่นคง เพื่อให้คนพิการสามารถลุกขึ้นสู้และก้าวต่อได้อีกครั้ง ภายใต้โครงการ "พลังเพื่อก้าวต่อไป" (Life must go on)
"ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็นพลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต โอสถสภาจึงมุ่งมั่นเสริมสร้างพลังให้คนพิการได้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ด้วยการสนับสนุนช่วยเหลือคนพิการในมิติต่างๆ โดยเน้นการช่วยเหลือด้านการสร้างอาชีพ สร้างพลังให้คนพิการสามารถยืนหยัดและก้าวต่อไปด้วยตนเองอย่างแท้จริงและยั่งยืน ตลอดจนสร้างเป็นโมเดลที่หน่วยงานอื่นๆ สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อขยายการช่วยเหลือไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศให้เป็นวงกว้างต่อไป" นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าว
โอสถสภาได้ให้การช่วยเหลือคนพิการมาตั้งแต่ปี 2555 ผ่านโครงการ "โอสถสภา เพื่อชีวิตที่ดีกว่า" และต่อมาได้ริเริ่มโครงการ "ส่งเสริมอาชีพคนพิการตามมาตรา 35" ที่มุ่งเน้นให้คนพิการมีความพร้อมและพัฒนาจนสามารถช่วยเหลือและเลี้ยงดูตัวเองได้ มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการช่วยเหลือคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปัจจุบัน ได้สร้างอาชีพให้แก่คนพิการในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีความพิการมาแต่กำเนิด แต่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจนพิการและไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้เหมือนเดิม
ต่อมา โอสถสภาได้ริเริ่มโครงการ "พลังเพื่อก้าวต่อไป" ขึ้น โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ ภาคส่วนท้องถิ่น หน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่น เครือข่ายนักกายภาพ เสริมสร้างพลังให้แก่คนพิการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การเสริมสร้างพลังกาย โดยร่วมกับเครือข่ายนักกายภาพบำบัดในพื้นที่เข้าฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ 2) การเสริมสร้างพลังใจ โดยการปรับสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีความเหมาะสมกับคนพิการ ช่วยให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือและพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด เพื่อให้คนพิการมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้นจนสามารถเข้าสังคมได้ดีขึ้น และ 3) การสร้างพลังชีวิต ด้วยการค้นหาและส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม ให้ความรู้ พร้อมจัดสรรอุปกรณ์และเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ซึ่งช่วยให้คนพิการมีรายได้ที่มั่นคง โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 4,000-6,000 บาทต่อเดือน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น และมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป
การจัดตั้งศูนย์ต้นแบบเกษตรอินทรีย์คนพิการนั้นนับเป็นหนึ่งในการสร้างพลังชีวิตให้แก่คนพิการ มีการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบเกษตรอินทรีย์คนพิการแห่งแรกขึ้นในอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้พิการในพื้นที่ ที่ไม่มีที่ดินทำกิน ได้ร่วมกันทำการเกษตรอินทรีย์ คนพิการในโครงการได้ร่วมกันเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นแปลงเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ มีหน่วยงานและผู้สนใจแวะเวียนมาเรียนรู้เป็นจำนวนมาก และได้กลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อยอดสู่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์คนพิการ โรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และนายพลวรรธน์ เทียนชัยมงคล ปลัดจังหวัดสระบุรี ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฯ เมื่อเร็วๆ นี้
นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า "ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์คนพิการ โรงพยาบาลแก่งคอย เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการบูรณาการการทำงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ที่สมบูรณ์ โดยนำจุดแข็งและความถนัดของเอกชนมาบูรณาการเป็นความช่วยเหลือคนพิการในหลายมิติ นอกเหนือจากการส่งเสริมอาชีพแล้ว ยังมีส่วนช่วยพัฒนาร่างกาย จิตใจ สังคม ของคนพิการได้อย่างน่าสนใจ ถือเป็นความร่วมมือที่เอกชนได้ร่วมกับภาครัฐและพัฒนาขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์คนพิการ โรงพยาบาลแก่งคอย เกิดจากความร่วมมือระหว่างโอสถสภาและโรงพยาบาลแก่งคอย ตั้งอยู่บนพื้นที่ด้านหลังโรงพยาบาลแก่งคอย มีทีมโอบอุ้ม กลุ่มทำงานช่วยเหลือคนพิการของโรงพยาบาลซึ่งมีนายแพทย์ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการ คอยให้คำแนะนำและเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ
"ที่ผ่านมา เราเห็นพัฒนาการของคนพิการหลายคนที่เปลี่ยนจากคนป่วย มาเป็นแรงงานคุณภาพ สามารถทำอาชีพร่วมกัน สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ มีตลาดรองรับ จึงอยากให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็นจุดเรียนรู้ เป็นโมเดลการบูรณาการ เพื่อให้เกิดการต่อยอดในการศึกษาและขยายรูปแบบการสนับสนุนอาชีพเพื่อพัฒนาคนพิการนี้ ไปยังผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ" นายแพทย์ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย กล่าว
แรกเริ่มนั้นศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็นพื้นที่ให้คนพิการได้มารวมตัวกันเพาะปลูกพืชตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ จากนั้นได้เริ่มทำงานเกษตรอื่นๆ เพิ่มเติม โดยใช้ความรู้จากการส่งเสริมอาชีพต่างๆ ที่ได้ทำมาตลอด 5 ปี ปัจจุบัน ศูนย์ฯ มีการทำการเกษตรผสมผสานหลากหลายรูปแบบ และครอบคลุมทั้งขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบอุปกรณ์ การปลูก การเลี้ยงดู ไปจนถึงการแปรรูป โดยภายในพื้นที่ขนาด 5 ไร่แห่งนี้ ประกอบด้วยแปลงผัก โรงเรือนปลูกผัก โรงเพาะเห็ด บ่อเลี้ยงปลา โรงเรือนเลี้ยงเป็ดไก่ โรงผลิตปุ๋ยธรรมชาติ โรงแปรรูปอาหาร และตลาดกินดีอยู่ดีที่จำหน่ายผลผลิตของศูนย์ฯ ซึ่งผู้ที่มาอุดหนุนสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่สด ปลอดสารพิษ และยังได้ปันโอกาสให้แก่คนพิการอีกด้วย
นางบัวเลียน พางาม หัวหน้าศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์คนพิการ โรงพยาบาลแก่งคอย เล่าถึงการทำงานในศูนย์ฯ ว่า "ความไม่สมบูรณ์อันเนื่องจากความพิการทางร่างกาย ทำให้ต้องอาศัยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาเติมเต็ม ทั้งการช่วยเหลือในกลุ่มสมาชิกเอง ที่ต้องแบ่งงาน ช่วยเหลือ เรียนรู้ผิดถูกร่วมกัน และการช่วยเหลือสนับสนุนจากคุณหมอและโอสถสภา เพื่อให้งานกลุ่มที่เราช่วยกันมันสมบูรณ์และไปได้ ตอนนี้ ร่างกายจิตใจแข็งแรง มีการดูแลจากคุณหมอที่โรงพยาบาล อาจเหนื่อยบ้าง แต่ก็ภูมิใจที่คนพิการอย่างเราสามารถดูแลและช่วยให้สมาชิกคนอื่นๆ มีงานทำ มีรายได้ ดูแลตัวเองและครอบครัวไปด้วยกัน"
นอกจากนี้ โอสถสภายังภาคภูมิใจที่ได้เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้กับแบรนด์สินค้าของคนพิการในโครงการพลังเพื่อก้าวต่อไป ได้แก่ สินค้าเกษตรปลอดภัยแบรนด์ 'กินดี' งานจักสานแบรนด์ 'แฮนดี้' และเฟอร์นิเจอร์งานไม้แบรนด์ 'อยู่ดี' พร้อมเปิดโอกาสให้สามารถช่วยสนับสนุนสินค้าคุณภาพเหล่านี้ได้ผ่านเพจ กินดี อยู่ดี แฮนดี้ เพื่อร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ปันโอกาสและปันความสุข เป็นพลังให้คนพิการอีกมากมายได้ลุกขึ้นสู้อีกครั้งและก้าวต่อไปด้วยกัน