กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี
กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2022 และ 2023 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2022 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมาย ก่อนจะทยอยลดลง และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2023 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2022 และ 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ ทั้งนี้คณะกรรมการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นหลัก ในขณะที่แรงกดดัน เงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง
EIC คาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2022 เนื่องจาก 1) กนง. มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งยังคงเปราะบางและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 โดย EIC ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2022 ลงเหลือ 2.7% จากกำลังซื้อของครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงตามอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ผลกำไร (profit margin) ลดลง และอาจชะลอการลงทุนจากเดิม นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประมาณการเดิม จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยนักท่องเที่ยวบางส่วนอาจชะลอการเดินทางจากภาวะเงินเฟ้อและการบริโภคที่จะได้รับผลกระทบ 2) อัตราเงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยอุปทาน ขณะที่ปัจจัยด้านอุปสงค์ยังอ่อนแอ อีกทั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นคาดว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาหนึ่ง และจะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางก็ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย และ 3) ภาระหนี้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนไทย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนมากกว่าในอดีต
ทั้งนี้ EIC มองว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก (Recession risk) ซึ่งจะกระทบต่ออุปสงค์และการส่งออกไทยในระยะต่อไปได้
โดย EIC คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทุกรอบการประชุมที่เหลือ
ของปีนี้ (รวม 7 ครั้งในปี 2022) และมีโอกาสสูงที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนปีนี้ เนื่องจากคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้การเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของ Fed อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากต้นทุนการกู้ยืมและภาระดอกเบี้ยของทั้งธุรกิจและผู้บริโภคที่จะปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภค การลงทุน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ 1) ต้นทุนการกู้ยืมของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคสูงขึ้น 2) ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 3) ฐานะการเงินและความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับแย่ลง และ 4) ราคาสินทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงผลตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็ว ได้ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 2 ปี (2-10 spread) ปรับลดลง จนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอยู่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (Inverted yield curve) ซึ่งมักจะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยจากสถิติในอดีต พบว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักจะเกิดหลังจากการติดลบของ 2-10 spread ประมาณ 1-2 ปี ทั้งนี้สำหรับในกรณีฐานคาดว่าภาวะ Recession ในสหรัฐฯ อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในปีหน้า แต่ก็ต้องจับตาดูการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อย่างต่อเนื่อง
KEY POINTS
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2022 และ 2023 จะขยายตัวที่ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 30 มีนาคม 2022 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2022 และ 2023 จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2022 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมาย ก่อนจะทยอยลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2023 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้คณะกรรมการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นหลัก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง
- เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 3.2% ในปี 2022 และ 4.4% ในปี 2023 (จากประมาณการเดิมในเดือนธันวาคม 2021 ที่ 3.4% และ 4.7% ในปี 2022 และ 2023) จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว โดยผลของการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มากเท่าระลอกก่อนหน้า ทั้งนี้แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่จะไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรมที่อาจยืดเยื้อ และผลกระทบจากค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้นต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในกลุ่มเปราะบาง โดยคณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2022 และ 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ (จากประมาณการเดิมในเดือนธันวาคม 2021 ที่ 1.7% และ 1.4%) โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ในปีนี้ จากราคาพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก ก่อนที่จะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2023 ส่วนหนึ่งจากราคาพลังงานที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจมากกว่าคาด โดยคณะกรรมการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push inflation) ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำจากรายไดที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ ธปท. ได้จัดทำเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อจาก common components ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งล่าสุดบ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อยังไม่น่ากังวลนัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางก็ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายการเงิน
กนง. ประเมินว่า ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย โดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐปรับอ่อนค่าลงจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยคณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
กนง. ระบุว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยมาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด
โดยเน้นการสร้างรายได้และการบรรเทาภาระค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ช่วยกระจายสภาพคล่องและช่วยลดภาระหนี้โดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ
และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงจะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างและสร้างความไม่แน่นอนในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมหากจำเป็น
IMPLICATIONS
EIC คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2022 เนื่องจาก
1)กนง. มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งยังคงเปราะบางและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 (รูปที่ 1) โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2021 อยู่ที่เพียง 1.6% และ EIC ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2022 ลงเหลือ 2.7% (จากคาดการณ์เดิมที่ 3.2%) จากกำลังซื้อของครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงตามอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ผลกำไร (profit margin) ลดลง และอาจชะลอการลงทุนจากเดิม นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวช้ากว่าประมาณการเดิมจาก 1) ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปเดินทางมาน้อยลง และ 2) นักท่องเที่ยวบางส่วนมีแนวโน้มชะลอการเดินทางจากภาวะเงินเฟ้อและการบริโภคที่ลดลง จึงทำให้ EIC ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2022 ลงจาก 5.9 ล้านคนเป็น 5.7 ล้านคน สำหรับผลของแผลเป็นเศรษฐกิจ พบว่าทั้งการว่างงาน รายได้ และหนี้ครัวเรือนยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
2)อัตราเงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวขึ้น ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยอุปทาน ขณะที่อุปสงค์ยังอ่อนแอ อีกทั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นคาดว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาหนึ่ง และจะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปีหน้า โดยแม้ EIC คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปี มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ระดับ 4.9% แต่เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ปัจจัยด้านอุปสงค์ยังไม่เร่งตัวมากนัก แม้อาจมีการทยอยส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมายังผู้บริโภคบ้างบางส่วน นอกจากนี้ EIC คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มปรับลดลงและเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้ในปีหน้า นอกจากนี้ เงินเฟ้อคาดการณ์ปรับสูงขึ้นไม่มากนักและยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยล่าสุดเงินเฟ้อคาดการณ์ 1 ปีข้างหน้าของครัวเรือนอยู่ที่ 2.6% (ณ กุมภาพันธ์ 2022) และเงินเฟ้อคาดการณ์ 1 ปีข้างหน้าของภาคธุรกิจอยู่ที่ 2.8% (ณ มีนาคม 2022) สำหรับระยะ 5 ปีข้างหน้าของ professional forecasters อยู่ที่ 1.9% (ต.ค. 21) ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในปัจจุบันจะไม่เป็นปัจจัยที่ทำให้ กนง. ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้
3)ภาระหนี้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนของไทย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนมากกว่าในอดีต โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2021ทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 89.3% โดยยังสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และ EIC คาดว่าหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2022 ยังมีแนวโน้มขยายตัว 3-5% ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือนในช่วงที่รายได้ฟื้นตัวช้า ทั้งนี้คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2022 จะปรับลดลงเล็กน้อยตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย โดยอาจอยู่ในช่วง 88%-90%
ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางหลัก (โดยเฉพาะ Fed) อาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก (Recession risk) ซึ่งจะกระทบต่ออุปสงค์และการส่งออกไทยในระยะต่อไปได้ EIC คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทุกรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ (รวม 7 ครั้งในปี 2022)
โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในเดือนมีนาคม 2022 Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงสุดในรอบ 40 ปี ในช่วงที่เหลือของปีนี้ EIC คาดว่า Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 6 ครั้ง และมีโอกาสสูงที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนปีนี้ เนื่องจากคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้ในปี 2023 EIC คาดว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไตรมาสละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 3 ส่งผลให้ Terminal rate อาจขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 3-3.25% นอกจากนี้ EIC คาดว่า Fed อาจเริ่มลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening: QT) ในการประชุมเดือนพฤษภาคม ด้วยความเร็วและปริมาณที่มากกว่ารอบก่อน เนื่องจากปัจจุบัน Fed ถือครองสินทรัพย์มากกว่าในอดีตมาก โดย EIC คาดว่าอัตราการลดขนาดงบดุลอาจมีปริมาณราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (UST) 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และ Mortgaged-backed securities (MBS) อีก 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ตามลำดับ การเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของ Fed อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากต้นทุนการกู้ยืมและภาระดอกเบี้ยของทั้งธุรกิจและผู้บริโภคที่จะปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภค การลงทุน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่
จะส่งผลให้การลงทุนและการบริโภคปรับลดลงในระยะต่อไป
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วเกินไปได้ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 2 ปี (2-10 spread) ปรับลดลง จนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอยู่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (Inverted yield curve) ซึ่งมักจะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยจากสถิติในอดีต พบว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักจะเกิดหลังจากการติดลบของ 2-10 spread ประมาณ 1-2 ปี (รูปที่ 4) ทั้งนี้สำหรับในกรณีฐานคาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จะยังไม่เกิดขึ้นในปีหน้า แต่ก็ต้องจับตาดูการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อย่างต่อเนื่อง