กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขานรับนโยบาย ส่งเสริมทักษะและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไทยก่อนไปทำงานประเทศซาอุดีอาระเบีย
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามความร่วมมือด้านแรงงาน กับ กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งสืบเนื่องจากที่ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้ขานรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ในการผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองประเทศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมในการเตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังแรงงานมีทักษะฝีมือให้ตรงกับความต้องการของนายจ้างและสถานประกอบการของซาอุดีอาระเบีย และดำเนินการรับสมัครคนงานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย จนนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงด้านแรงงาน ทั้งนี้ รมว.แรงงาน ได้กำชับและมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขับเคลื่อนพัฒนาทักษะ และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของความร่วมมือตามข้อตกลงด้านแรงงาน
ปัจจุบัน มีแรงงานที่ลงทะเบียนเพื่อประสงค์ไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย จำนวน 1,274 คน (ข้อมูลกรมการจัดหางาน ณ วันที่ 29 มีนาคม 2565) จังหวัดที่มีแรงงานประสงค์ไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อุดรธานี นครพนม นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม สุโขทัย บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตำแหน่งงานที่มีแรงงานต้องการทำงานมากที่สุด ได้แก่ คนงานเกษตร อุตสาหกรรม พนักงานบริการ และ พนักงานนวดแผนไทย
นายประทีป กล่าวต่อไปว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เตรียมการรองรับส่งแรงงานไทยไปประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยเร่งพัฒนาทักษะพร้อมทั้งดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาอาชีพซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการ โดยได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในภูมิภาคดำเนินการเชิงรุกเตรียมการด้านหลักสูตรฝึกอบรม สถานที่เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์การฝึกอบรม โดยหลักสูตรที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอาราบิก นวดแผนไทย นวดสปา การประกอบอาหาร ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า และช่างเชื่อม ทั้งนี้ การฝึกอบรมจะเน้นเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ตลอดจนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ก่อนไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่มีมาตรฐานและเป็นธรรม เน้นบูรณาการข้อมูลความต้องการตำแหน่งงานกับกรมการจัดหางาน เพื่อดำเนินการฝึกได้ตรงกับความต้องการของนายจ้างในต่างประเทศ