บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ROVULA ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ Subsea IRM ที่ให้บริการเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการสำรวจ และซ่อมบำรุงท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำอย่างครบวงจร ภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยอีกครั้งด้วยผลงานการพัฒนา Nautilus หุ่นยนต์อัจฉริยะเพื่อซ่อมแซม และบำรุงรักษาท่อใต้ทะเลตัวแรกของโลก ที่คว้ารางวัล Spotlight on New Technology Award ในงาน Offshore Technology Conference Asia (OTC Asia) 2022 งานประชุมสัมมนาระดับนานาชาตินัดสำคัญของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของเอเชีย โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการทดลองนำร่องใช้งานแล้วในอุตสาหกรรมภายใต้เครือ ปตท. และ ปตท.สผ. และเตรียมต่อยอดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์สู่กลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนธุรกิจพลังงานทางเลือก และธุรกิจด้านโทรคมนาคมต่อไป ภายในปี 2565 นี้
ดร. ธนา สราญเวทย์พันธุ์ General Manager, บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ผู้นำด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า "หนึ่งในธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ARV คือ ROVULA ผู้ให้บริการเทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการสำรวจ และซ่อมบำรุงใต้น้ำอย่างครบวงจร มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ให้หุ่นยนต์อัจฉริยะทำงานแทนมนุษย์ในสภาพแวดล้อมใต้น้ำได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายในการปฏิบัติงานที่อาจเกิดแก่มนุษย์ให้ได้มากที่สุด การได้มาร่วมจัดแสดงนวัตกรรมในงาน OTC Asia 2022 ครั้งนี้ของ ROVULA และ ARV ในนามของ ปตท.สผ. ในฐานะตัวแทนบริษัทสัญชาติไทยเพียงหนึ่งเดียว ทั้งยังสามารถคว้ารางวัล Spotlight on New Technology Awards จากผลงานหุ่นยนต์ใต้น้ำ Nautilus นับเป็นโอกาสที่สำคัญในการพิสูจน์ความสามารถบนเวทีระดับเอเชีย และระดับโลกด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอันโดดเด่นและล้ำสมัยเพื่อต่อยอดการใช้งานและยกระดับอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างเป็นรูปธรรม"
ทางทีมผู้บริหาร บริษัท ROVULA กล่าวว่า "เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่ง ROVULA ได้นำไปจัดแสดงที่บูธนิทรรศการของกลุ่ม ปตท.สผ. ในงาน OTC Asia 2022 ประกอบด้วย Nautilus หุ่นยนต์อัจฉริยะที่ใช้ในการสำรวจ และซ่อมบำรุงท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำอย่างครบวงจรตัวแรกของโลก โดยเป็นผลงานการพัฒนาร่วมกับ Kongsberg Ferrotech ผู้นำด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ใต้น้ำสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานและการเดินเรือระดับโลกจาก ประเทศนอร์เวย์ และ Roto Climber หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลอัจฉริยะ ที่สามารถตรวจสอบและซ่อมบำรุงท่อแนวตั้งนอกชายฝั่งตั้งแต่บริเวณเหนือน้ำจนถึงใต้น้ำ ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาและร่วมลงทุนกับบริษัท Rototech ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ"
Nautilus เป็นหุ่นยนต์อัจฉริยะที่ใช้ในการสำรวจ และซ่อมบำรุงระบบท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำอย่างครบวงจรตัวแรกของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคว้ารางวัล ADIPEC Awards 2020 ในสาขา Breakthrough Technological Project of the Year ในงาน ADIPEC นิทรรศการและการประชุมนัดสำคัญระดับโลกของอุตสาหกรรมพลังงาน จัดขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อปี 2563 มาแล้ว นับเป็นเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูงที่ควบคุมด้วยระบบดิจิทัลระยะไกล ซึ่งสามารถซ่อมแซมท่อใต้น้ำที่ชำรุดจากการกัดกร่อน โดยทำงานใต้น้ำในระดับความลึกได้สูงสุดถึง 150 เมตร สามารถซ่อมท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 12 - 16 นิ้ว และทนทานต่ออุณหภูมิสูงสุด 90 องศาเซลเซียส และรับแรงดันน้ำสูงสุด 90 บาร์ ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและเวลา ตลอดจนลดความเสี่ยงของนักประดาน้ำในการปฏิบัติงานด้าน IRM และสามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้กว่า 30% เมื่อเทียบการวิธีการแบบเดิม
ในส่วนของ Roto Climber คือหุ่นยนต์ควบคุมจากระยะไกล พร้อมฟังก์ชันการทำงานหลากหลาย ทั้งทำความสะอาด และตรวจสอบโครงสร้างแนวตั้งนอกชายฝั่ง ทั้งท่อตัวนำ (Conductor) ท่อไรเซอร์ (Riser Caisson) หรือขาแพลตฟอร์ม โดยสามารถบันทึกภาพการตรวจสอบระยะใกล้ ตรวจสอบความหนาของผนัง และสร้างแผนที่การกัดกร่อนอย่างแม่นยำ ตลอดจนสามารถทำความสะอาดท่อได้อย่างหมดจดด้วยปั๊มแรงดันสูงพิเศษถึง 40,000 psi โดยจุดเด่นของหุ่นยนต์ Roto Climber คือสามารถตรวจสอบท่อได้ตั้งแต่ บริเวณเหนือน้ำจนไปถึงใต้น้ำ แม้แต่ในบริเวณที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อนำผลมาวิเคราะห์ประเมินความเสียหาย อีกทั้งยังมีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการทำงานแบบเดิมโดยใช้เรือและนักประดาน้ำ นอกจากนั้นยังสามารถทำความสะอาด และตรวจสอบได้เร็วกว่ามนุษย์และ ROV ถึง 5 เท่า
โดยปัจจุบัน ทั้ง Nautilus และ Roto Climber อยู่ระหว่างการทดสอบนำร่องใช้งานจริง ในการสำรวจซ่อมแซม และบำรุงรักษาโครงสร้างนอกชายฝั่งของอุตสาหกรรมภายใต้เครือ ปตท. และ ปตท.สผ. ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพน่าพอใจ สามารถปฏิบัติงานในฟังก์ชันต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนและรวดเร็ว ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และลดความเสี่ยงของการใช้บุคคลการในการปฏิบัติงาน และกำลังเตรียมต่อยอดการใช้งานไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีโครงสร้างหรือสิ่งปลูกสร้างนอกชายฝั่ง เช่นอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก และโทรคมนาคม เป็นต้น และคาดว่าจะพร้อมให้บริการเชิงพาณิชย์ แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ยกระดับศักยภาพ ลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจภายในปี 2565 นี้ โดยสามารถติดต่อแจ้งความสนใจ หรือขอรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ petchl@rovula.com
สำหรับงาน OTC Asia คืองานประชุมสัมมนาระดับนานาชาติครั้งสำคัญจัดขึ้นทุกสองปี เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากทั่วเอเชียได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาความรู้ทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์สำหรับทรัพยากรและสภาพแวดล้อมนอกชายฝั่ง นับเป็นเวทีซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จและแรงบันดาลใจของเอเชียและอุตสาหกรรมพลังงานในภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อตลาดพลังงานที่กำลังเติบโตทั่วโลก ในงานนี้ยังมีการมอบรางวัลต่าง ๆ รวมทั้ง รางวัล Spotlight on New Technology Awards ซึ่งเป็นการยกย่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดจากทั่วภูมิภาคเอเชียที่มีศักยภาพโดดเด่นในการผลักดันให้อุตสาหกรรมพัฒนาไปสู่อนาคต