ม.มหิดล เผยกลยุทธ์เร่งสปีดวิจัยวัคซีนและชีวภัณฑ์แบบ "วิ่งนำเชื้อโรค" ผุดห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 (BSL3) ติดสปริงบอร์ดพัฒนาวัคซีนและชีวภัณฑ์ขั้นสูงเพื่อมวลมนุษยชาติ

ข่าวทั่วไป Friday April 1, 2022 11:40 —ThaiPR.net

ม.มหิดล เผยกลยุทธ์เร่งสปีดวิจัยวัคซีนและชีวภัณฑ์แบบ

ปัญหาการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่นำมาสู่การเกิดโรคอุบัติใหม่ อย่างเช่นการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสCOVID-19 ในปัจจุบัน ทำให้การพัฒนาวัคซีนและชีวภัณฑ์ต่าง ๆ จะรอช้าอีกต่อไปไม่ได้ ทางรอดทั่วไป คือ จะต้องพัฒนาแบบ "วิ่งตามเชื้อโรค" ให้ทัน แต่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เรามุ่งสู่การ "วิ่งนำเชื้อโรค"

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยถึงกลยุทธ์ในการวิจัยวัคซีนและชีวภัณฑ์ของสถาบัน MB ในฐานะส่วนงานที่มีการจดทะเบียนงานวิจัยวัคซีนและชีวภัณฑ์มูลค่าสูงสุดผลงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล จากกว่า 3 ทศวรรษที่สถาบัน MB ได้ทุ่มเทในการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก (เดงกี่) และกำลังจะทำให้ความฝันของคนไทยและมวลมนุษยชาติที่จะมีวัคซีนใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกใกล้เป็นจริง หลังผ่านขั้นตอนวิจัยและทดสอบจริงในมนุษย์ในบางส่วนแล้ว

จากจุดนี้ สถาบัน MB ได้ก้าวสู่การจัดสร้างห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 (BSL3) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างสรรค์งานวิจัยระดับโลก ห้องปฏิบัติการนี้สามารถป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อร้ายแรง ทำให้นักวิจัยสามารถปฏิบัติงานพัฒนาวัคซีนได้อย่างปลอดภัย ตามนโยบายโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2566 และมีเป้าหมายผ่านการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานสากลโดยหน่วยงานประเมินชั้นนำจากประเทศสิงคโปร์

ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 (BSL3) ที่จัดสร้างขึ้นนี้ได้รับการออกแบบอย่างเป็นสัดส่วน (Isolated Area) ซึ่งมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยจากการปนเปื้อนหรือติดเชื้อ นอกจากนี้ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ได้ให้มุมมองถึงการพัฒนาวัคซีนและชีวภัณฑ์ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานนับทศวรรษ หากนับตั้งแต่จุดสตาร์ท เพื่อให้ทันต่อโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น ทั้งในปัจจุบันที่มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต จึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ต่อยอดเทคโนโลยีเดิม และสร้างสรรค์เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นใหม่เองด้วยไปพร้อม ๆ กัน

ซึ่งวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) และเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) หรือการใช้สารพันธุกรรมเพื่อกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย กำลังเป็นที่น่าจับตา โดยวัคซีน mRNA ป้องกัน COVID-19 ที่ฉีดให้แก่คนไทยในปัจจุบันต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่เป็นเทคโนโลยีที่นักวิจัยหลายรายในมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังอยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อการพัฒนาต่อยอด โดยหวังให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อการกระตุ้นป้องกัน COVID-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้สามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย และมั่นใจ ตลอดจนสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ต่อไป

อย่างไรก็ดี การลงทุนเพื่อการพัฒนาวัคซีนและชีวภัณฑ์ต่างๆให้เกิดความคุ้มค่านั้น ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ มองว่าจะต้องมุ่งไปที่การสร้าง "Product Champion" หรือผลิตภัณฑ์เด่น จากผู้เชี่ยวชาญในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง อนึ่ง นอกจากจะต้องมีการเตรียมพร้อมในส่วนของทีมวิจัยแล้ว ยังต้องมีระบบนิเวศ (Ecosystem) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่พร้อมและเหมาะสมเช่น BLS3 มารองรับด้วย ซึ่งการจะทำให้เกิดความยั่งยืนให้ได้ต่อไปนั้น เราจะต้องช่วยให้ประเทศพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ