บล.ทิสโก้คาดกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยไตรมาส 1/2565 พุ่งแตะ 3 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หนุนภาพรวมลงทุนเดือน เม.ย. พร้อมเตือนนักลงทุนไม่ต้องตื่นตระหนกกับการเกิด Inverted Yield Curve ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในบางคู่ จนรีบเทขายหุ้นทิ้งทั้งหมด แนะติดตามสถานการณ์ โดยอาจขายปรับพอร์ต - ถือเงินสดเพิ่มขึ้นบางส่วนในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นเท่านั้น
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้จำกัด (Mr. Apichat Poobunjirdkul, Senior Strategist, TISCO Securities Co., Ltd) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เดือนที่ผ่านมาแกว่งตัวไปตามพัฒนาการของสงครามยูเครน - รัสเซีย ที่บล.ทิสโก้ประเมินไว้ 3 กรณี โดยภาพรวมการเคลื่อนไหวหลักของ SET Index อยู่ในกรอบ 1,660 - 1,700 จุด ซึ่งเป็นกรณีฐานที่ประเมินไว้ บล.ทิสโก้เชื่อว่า ความหวังการเจรจาสันติภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 ของตลาดโดยรวมที่เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 หลักทั้งเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) แตะระดับ 3 แสนล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์ น่าจะช่วยหล่อเลี้ยงบรรยากาศการลงทุนโดยรวมต่อเนื่องในเดือนนี้
สำหรับผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ของ บล.ทิสโก้ ทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ BAY, BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB และ TTB คาดว่าไตรมาส 1/2565 จะมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 4.89 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4% YoY และเพิ่มขึ้น 21.7% QoQ การเติบโต YoY หลักๆ มาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อ และการตั้งสำรองฯ (ต้นทุนเครดิต) ที่คาดจะลดลงจากการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ ขณะที่การเติบโตของกำไร QoQ มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และต้นทุนเครดิตที่ลดลง บล.ทิสโก้เชื่อว่า ธนาคารขนาดใหญ่ยังมีโอกาสเห็นต้นทุนเครดิตลดลงได้มากกว่าธนาคารขนาดเล็ก รวมทั้งจะได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลักๆ มาจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย และมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ รวมถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และแนวโน้มการเร่งเข้มงวดทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยและการเริ่มดึงสภาพคล่องออกจากระบบในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนนี้ เชื่อว่าจะไม่เป็นผลดีต่อตลาดโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ และทิศทางของกระแสเงินทุนต่างประเทศในระยะถัดไป
สำหรับการเริ่มเกิดปรากฎการณ์ "Inverted Yield Curve" ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้นสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว โดยเกิดสัญญาณขึ้นในในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Bond Yield) บางคู่ เช่น คู่ของอายุ 10 ปี - 5 ปี และคู่ของอายุ 30 ปี - 5 ปี เป็นต้น ขณะที่คู่ของอายุ 10 ปี - 2 ปี ก็ใกล้จะติดลบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ บล.ทิสโก้เชื่อว่า คู่ของอายุ 10 ปี - 3 เดือน น่าจะสะท้อนภาพวัฏจักรเศรษฐกิจได้ดีกว่า
"จากการศึกษาข้อมูล US Bond Yield คู่ของอายุ 10 ปี - 3 เดือนนับตั้งแต่ปี 2513 พบว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ คู่ของอายุ 10 ปี - 3 เดือนติดลบทุกครั้ง โดยใช้เวลาเฉลี่ย 19 เดือนหลัง Yield Curve ติดลบ ขณะที่ราคาหุ้น (MSCI DM Index) จะผันผวนสูงในช่วงเดือนแรกๆ ที่เกิด Inverted Yield Curve ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วง 4-5 เดือนถัดไป ซึ่งหลังจากนั้นตลาดหุ้นมักจะเกิดการปรับฐานลงครั้งใหญ่ตามมา โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 13 เดือน โดยมีระยะเวลาที่สั้นที่สุด คือ 6 เดือน และนานที่สุด คือ ประมาณ 2 ปี" นายอภิชาติกล่าว
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ปัจจุบันส่วนต่าง US Bond Yield คู่ของอายุ 10 ปี - 2 ปี ใกล้จะติดลบแล้ว แต่ บล.ทิสโก้มองเป็นเพียงสัญญาณเตือนให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนเท่านั้น และอยากให้นักลงทุนพิจารณาควบคู่ไปกับส่วนต่าง US Bond Yield คู่ของอายุ 10 ปี - 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันยังเป็นบวกกว่า 180 bps ดังนั้น นักลงทุนยังไม่ต้องตื่นตระหนกกับการเกิด Inverted Yield Curve ในบางคู่ จนรีบเทขายหุ้นทิ้งทั้งหมด บล.ทิสโก้แนะนำเพียงแค่ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์การลงทุนให้ใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิม และ/หรือ อาจขายปรับพอร์ต-ถือเงินสดเพิ่มขึ้นบางส่วนในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นเท่านั้น
จากมุมมองข้างต้น บล.ทิสโก้ยังคงกลยุทธ์ "Selective Buy" สำหรับการลงทุนในเดือนเมษายนมีประเด็นหุ้นที่น่าสนใจ คือ 1.หุ้นที่ป้องกันเงินเฟ้อได้ และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น แนะนำ PTTEP, PTTGC / BBL 2.หุ้นเปิดเมืองรับการผ่อนคลายต่างชาติเข้าประเทศง่ายขึ้นและการเตรียมปรับ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่นแนะนำ MINT และ 3. หุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เด่น AP, BCH, SPVI เพราะฉะนั้นหุ้นเด่นที่บล.ทิสโก้แนะนำในเดือนเมษายน คือ AP, BBL, BCH, MINT, PTTEP, PTTGC และ SPVI ด้านแนวรับสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1,660 - 1,670 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,640 จุด และ 1,620 จุด ตามลำดับ และแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1,700 - 1,705 จุด และแนวต้านต่อไปคือ 1,720 - 1,730 จุด และ 1750 จุด ตามลำดับ