กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาจังหวัดสตูลสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวทางการพัฒนา BCG ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และจังหวัดสตูล โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ปลัดกระทรวง อว. เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ อว. นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นางสาวภัทริยา ไชยมณี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นางสุชิน อุดมสมพร รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เป็นผู้ร่วมลงนาม ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล
นางสาวภัทริยา ไชยมณี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า ความร่วมมือของทั้ง 6 หน่วยงาน โดยการนำองค์ความรู้มาบูรณาการศาสตร์ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ สู่การพัฒนา จ.สตูล อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทางการพัฒนา BCG โดยร่วมกันใช้ทรัพยากรและบุคลากรที่มีความสามารถตามภารกิจหลักของหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว.พร้อมร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ทางวิชาการในการพัฒนาอุทยาธรณีโลกสตูลให้ได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับสากล และสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากอุทยานธรณีโลก พร้อมทั้งผลักดันให้จังหวัดสตูลเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทางมรดกวัฒนธรรม พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจ BCG ให้เกิดเศรษฐกิจมูลค่าสูง โดยใช้ Geopark เป็นตัวนำในการสร้าง Sustainable Development Economic Zone ให้เป็น World Destination ของประเทศไทย
ทั้งนี้ วศ. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางวิทยาศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน นำความพร้อมของการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งศักยภาพของการวิเคราะห์ทดสอบที่มีมาตรฐานมาช่วยยกระดับจังหวัดสตูล โดยจัดแสดงผลงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย โครงการพัฒนาพริกไทยสุไหงอุเป และผ้าบาติก ผลิตภัณฑ์เซรามิกดอกกล้วยไม้ขาวสตูลดอกไม้ประจำจังหวัด ที่ผลิตจากเนื้อดินขาวนราธิวาส และผลงานวิจัยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกและการจัดการขยะในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลอย่างยั่งยืนโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา วิทยาเขตสตูล และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของจังหวัดสตูล รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยการจัดการขยะและไมโครพลาสติกในพื้นที่เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ต่อไป