บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยยังแกว่งตัวแคบ ขาดปัจจัยใหม่หนุน ส่วนสถานการณ์รัสเซียและยูเครนยังไร้วี่แววจบ บวกความกังวลเกี่ยวกับ Inverted yield curve ที่คุกรุ่นมากขึ้น จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ 1,680-1,720 จุด พร้อมแนะกลยุทธ์ลงทุนใน 5 หุ้นรับอานิสงส์ ศบค. เตรียมหารือปลดล็อคมาตรการเข้าประเทศ 1 มิ.ย. นี้ ชู AOT-ERW-CENTEL-MINT-AWC
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นว่ายังแกว่งตัวผันผวนในกรอบแคบ โดยยังขาดปัจจัยใหม่เข้าหนุนตลาด ขณะที่ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังไหลเข้าต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงเป็นผลดีต่อต้นทุนของบริษัทจดทะเบียน ทำให้คาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีอยู่ในกรอบ 1,680-1,720 จุด
ขณะที่ Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 73.3% ที่คาดว่าFED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. 2565 ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 490,000 ตำแหน่ง ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของจีนลดลงสู่ระดับ 48.1 จากระดับ 50.4 ในเดือนก.พ. โดยดัชนี PMI เดือนมี.ค.หดตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563
ด้านมอร์แกน สแตนลีย์ ปรับลดคาดการณ์ GDP จีนในปี 2565 ส่วนซิตี้ กรุ๊ปเองได้เตือนว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเผชิญกับความเสี่ยงใน 2Q65 เนื่องจากรัฐบาลประกาศใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 กรณีล็อคดาวน์เมืองเซิ่นเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ทาง WHO เปิดเผยว่า โควิด-19 สายพันธุ์ย่อย XE ตัวใหม่ล่าสุดของโอมิครอนจะสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่า BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนราว 10%
ทั้งนี้ปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาต่อเนื่อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์แถลงสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สภาผู้ส่งออก) แถลงสถานการณ์การส่งออก, การประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) การรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 ของกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์ อียู รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมี.ค. สหรัฐเปิดเผยยอดนำเข้า ส่งออก และดุลการค้าเดือนก.พ. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมี.ค. และดัชนีภาคการผลิตเดือนมี.ค. จีนเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมี.ค. อียูเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนก.พ. สหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุม (เช้าวันที่ 7 เม.ย.) และ จีน เปิดเผยทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเดือนมี.ค. สหรัฐ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ รวมทั้งสถานการณ์ความยืดเยื้อของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน และความกังวลเกี่ยวกับ Inverted yield curve ที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจชะลอตัวได้
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการที่ ศบค.เตรียมประชุมเพื่อหารือการปลดล็อคมาตรการเข้าประเทศทุกเงื่อนไข 1 มิ.ย.นี้ ซึ่งรวมทั้งเลิก ThailandPass, Test&Go ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสกลับมาคึกคักได้ ซึ่งหุ้นที่ได้อานิสงส์จากปัจจัยบวกดังกล่าวได้แก่ AOT, ERW, CENTEL, MINT และ AWC
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก กล่าวว่า ปัจจัยที่ยังกดดันต่อราคาทองคำในขณะนี้ ยังคงเป็นความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งคาดการณ์ว่ารัสเซียจะตึงกำลังประชิดติดกรุงเคียฟไว้ จึงทำให้สงครามจ่อยืดเยื้อ และตัวประกันที่สำคัญสำหรับรัสเซียคือน้ำมันดิบ ที่ยังมีบทบาทอยู่มากต่อเงินเฟ้อสะท้อนผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐที่ยังทรงตัวระดับสูง หากเฟดยังไม่ส่งสัญญาณเพิ่มเติมที่มากกว่าการขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในครั้งหน้า สงครามและราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นจะเป็นแรงหนุนทองคำ
ฝ่ายวิจัยประเมินว่าสงครามรัสเซียและยูเครนส่อยืดเยื้อ อีกทั้งเฟดอาจจะยังไม่รีบส่งสัญญาณเชิงลบต่อตลาดเพิ่มเติม โดยเรามีมุมมองบวกต่อทองคำคาดการณ์การเคลื่อนไหวในกรอบ 1,880-1,960$/oz หากย่อตัวไม่หลุดแนวรับทยอยเข้าซื้อสะสม