กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 7 สกลนคร ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมุกดาหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ ระดับ 3 เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนในพื้นที่ได้เรียนรู้วิธีการปฏิบัติตนที่ปลอดภัยหากเกิดเพลิงไหม้ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างทักษะในการระงับเหตุ และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และอาสาสมัครในพื้นที่ นายบุณยรัตน์ จงสิริวงศ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 7 สกลนคร เปิดเผยว่า สถานการณ์ สาธารณภัยและอุบัติภัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอัคคีภัย ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับชุมชนเมืองมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการก่อสร้างอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งเมื่อเกิดอัคคีภัยในอาคารสูงแต่ละครั้ง จะนำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัยในอาคารสูง ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 7 สกลนคร จึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมุกดาหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ (ระดับ 3) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) ตลอดจนมูลนิธิและอาสาสมัครในจังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหารเข้าร่วมการฝึกซ้อม ในรูปแบบการจำลองสถานการณ์เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณชั้น 4 ห้อง 412 โรงแรมพลอยพาเลซ และการปฏิบัติตามขั้นตอนแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด โดยการประสานแจ้งเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าระงับเพลิงจนสามารถควบคุมเพลิง และช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ภายในอาคารไว้ได้ ซึ่งการฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้เป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการสาธารณภัยของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อีกทั้งตรวจสอบสภาพความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการอพยพหนีภัยเบื้องต้น และการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยหากเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนได้ฝึกทักษะในการเข้าระงับเหตุและ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่งผลให้สามารถนำแนวทางที่กำหนดตามแผนไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อมั่นในระบบและมาตรฐานความปลอดภัย