กสร. เตือนนายจ้างกิจการขนส่งช่วงสงกรานต์ ห้ามให้ลูกจ้างขับรถเกินเวลา หากเกิดอุบัติเหตุต้องได้รับโทษ

ข่าวทั่วไป Thursday April 7, 2022 16:11 —ThaiPR.net

กสร. เตือนนายจ้างกิจการขนส่งช่วงสงกรานต์ ห้ามให้ลูกจ้างขับรถเกินเวลา หากเกิดอุบัติเหตุต้องได้รับโทษ

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เตือนนายจ้างกิจการขนส่งทางบกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ห้ามให้ลูกจ้างขับขี่ยานพาหนะเกินวันละ 8 ชั่วโมง OT ไม่เกิน 2 ชม. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ขณะเดินทาง และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ในวันปีใหม่ไทยที่พี่น้องแรงงานทุกคนรอคอยที่จะได้มีความสุขกับครอบครัว แต่ยังมีอีกหลายอาชีพที่ยังคงทำงานอยู่ในช่วงเทศกาลนี้ เช่น ลูกจ้างขับรถ ซึ่งมีแนวโน้มประสบอุบัติเหตุจากการทำงานในช่วงสงกรานต์สูง เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมาก สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง สาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ขับรถด้วยความเร็ว ประมาท พักผ่อนน้อย หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีวันหยุดต่อเนื่องระหว่างวันที่ 13 - 17 เมษายน 2565 รวม 5 วัน และคาดว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้พนักงานขับรถต้องทำงานหนักมากขึ้น จึงฝากเตือนไปยังนายจ้าง สถานประกอบกิจการประเภทขนส่งทางบก ให้รณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัย พร้อมทั้งกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องปฏิบัติตามาตรการการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลกระทบจากการเดินทางและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

อธิบดี กสร. กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำงานปกติของลูกจ้าง ทำงานได้ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หากทำงานล่วงเวลาต้องไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หลังจากที่ลูกจ้างขับรถมาแล้ว 4 ชั่วโมง ต้องมีเวลาพักผ่อนติดต่อกันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และในวันถัดไปห้ามให้ลูกจ้างเริ่มทำงานก่อนครบเวลา 10 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการทำงานของวันที่ล่วงมาแล้ว ทั้งนี้ หากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวสิทธิหน้าที่ และการปฏิบัติตามแนวทางนี้ให้ติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ