ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี มอบนโยบายเร่งด่วนกรมบัญชีกลาง

ข่าวทั่วไป Friday March 14, 2008 15:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจเยี่ยมกรมบัญชีกลาง เพื่อฟัง รายงานการดำเนินงาน และมอบนโยบายเร่งด่วน เป็นพิเศษ 6 เรื่อง โดยเน้นเรื่องกฎหมาย ระเบียบ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและสวัสดิการของบุคคลากรของรัฐ
ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเข้าตรวจเยี่ยม กรมบัญชีกลาง ในวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2551 เวลา 10.00 น. ว่า ได้มากำกับดูแลกรมบัญชีกลางทำให้ทราบว่า กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานกลางที่มีความสำคัญมากต่อการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนโยบายการเงินการคลังและนโยบายทางด้านการบริหารจัดการที่ดี จะต้องมีการรักษาวินัยทางการคลังเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว โดยการบริหารรายจ่ายและเงินสดให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และมีสภาพคล่องที่เหมาะสม รวมถึงการดำเนินงานทางด้านการบริหารงานเศรษฐกิจ การเงินการคลังของจังหวัด ดังจะเห็นได้จากการที่กรมมีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า ”เป็นองค์กรนำในการบริหารการเงินภาครัฐและสนับสนุนการบริหารเศรษฐกิจการเงินการคลังของจังหวัด”
ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี กล่าวเพิ่มว่า หลังจากได้รับฟังรายงานผลการปฏิบัติราชการของ กรมบัญชีกลางในภารกิจต่าง ๆ แล้ว ได้มอบนโยบายสำคัญไว้หลายเรื่อง ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกรมบัญชีกลาง และที่เป็นนโยบายรัฐบาลเรื่องต่าง ๆ ได้แก่
1. เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายเพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจตามเป้าหมายของ รัฐบาล รวมทั้งบริหารเงินคงคลังให้มีประสิทธิภาพ มั่นคง และเพียงพอต่อความต้องการใช้จ่ายเงินของ ส่วนราชการ
2. การพัฒนาแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลัง การบัญชี การจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐ และการตรวจสอบภายใน ให้เป็นธรรม โปร่งใส และหน่วยงานภาครัฐสามารถปฏิบัติได้อย่างสะดวก คล่องตัว ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และเน้นการมีส่วนร่วม เช่น ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและ การบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล พ.ศ. ....
3. พัฒนากระบวนการให้บริการรับ-จ่ายเงินกับคลัง ให้สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย และมีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย และได้มาตรฐาน ในการเบิกจ่ายงบประมาณในระบบ GFMIS และการจ่ายตรง (Direct Payment) ในเรื่องเงินเดือน บำเหน็จบำนาญ และค่ารักษาพยาบาล
4. สนับสนุนการบริหารเศรษฐกิจการคลังจังหวัด รวมทั้งแผนพัฒนาและงบประมาณจังหวัด ผ่านระบบ CFO จังหวัด
5. เร่งการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ให้มีความรู้ทางด้านการคลัง การบัญชี การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการตรวจสอบภายใน เพื่อขับเคลื่อนการบริหารการเงินการคลังให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี กล่าวต่อท้ายว่า นอกจากมอบนโยบายสำคัญต่าง ๆ แล้ว ยังได้มอบนโยบายที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนและเป็นพิเศษ คือ
1. การพัฒนาระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล ให้เป็นธรรม และเหมาะสมและสอดคล้องกันระหว่าง ข้าราชการ ลูกจ้างผู้มีสิทธิ สถานพยาบาล และฐานะการคลังของรัฐ รวมทั้ง ให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิซ้ำซ้อนกับระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพ
2. การแก้ไข ปรับปรุง กฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมบัญชีกลางให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติระเบียบของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่จะมีการยกเลิก ระบบ “ซี” ซึ่งกฎระเบียบในปัจจุบันจะมีการใช้ระบบ “ซี” เป็นเกณฑ์ในการกำหนดสิทธิ และวิธีปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ เช่น การใช้สิทธิเบิกเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น โดยกำชับให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2551 โดยมีหลักการในการแก้ไข คือ ไม่เพิ่มเงินงบประมาณ หรือเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และไม่กระทบสิทธิที่ข้าราชการได้รับอยู่เดิม
3. พัฒนาระบบสั่งจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ ซึ่งในปีนี้จะพัฒนาในเรื่องการขอรับและการจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (INTERNET) ซึ่งในปีแรกได้นำร่องกับส่วนราชการ จำนวน 10 หน่วยงานก่อน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการให้ครบทุกส่วนราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 รวมถึงการแก้ไขกฎหมายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งจะผลักดันเกี่ยวกับนโยบายยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ผู้รับบำนาญ โดยมีการแก้ไขใน 2 เรื่อง คือ บำเหน็จค้ำประกัน และบำเหน็จดำรงชีพ
4. พัฒนาระบบการกำกับดูแลและประเมินผลเงินนอกงบประมาณเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการช่วยเสริมการปฏิบัติงานของส่วนราชการที่ใช้เงินงบประมาณแบบปกติ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินนอก งบประมาณให้แข็งแกร่งขึ้น
5. ให้เริ่มศึกษาการนำข้าราชการส่วนท้องถิ่นเข้าสู่ระบบ กบข. เพื่อให้ข้าราชการกลุ่มนี้มีเงินออมเมื่อออกจากราชการ
และสุดท้ายให้ร่วมศึกษาพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ในส่วนภูมิภาคร่วมกับ กรมธนารักษ์เพื่อเพิ่มปริมาณการหมุนเวียนเหรียญกษาปณ์ผ่านมือประชาชนและผู้ประกอบการให้มากที่สุดตามนโยบายที่ได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ดำเนินการไปแล้ว และยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะช่วยลดปัญหาการขึ้นราคาสินค้าเกินความจำเป็นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ