กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--แบรนด์คอม คอนซัลแทนส์
มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน จัดพิธีเปิดโครงการสำรวจเพื่อปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดแบบบูรณาการ ด้านชายแดนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ตั้งเป้าปรับลดพื้นที่อันตรายด้านที่ติดกับชายแดนกัมพูชาจากประมาณ 2000 ตารางกิโลเมตรให้เหลือเพียงประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร พร้อมเดินหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตามแนวชายแดน คาดจะช่วยให้ไทยสามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดทั่วประเทศแล้วเสร็จภายในปี 2556 ตามข้อผูกมัดในอนุสัญญาออตตาวา
ตราด — ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวในโอกาสเป็นประธานในงานแถลงข่าวและเปิดตัวโครงการดังกล่าวว่า “ขณะนี้ประเทศไทยเหลือเวลาอีกเพียง 5 ปีที่จะต้องปฏิบัติตามพันธะกิจของอนุสัญญาออตตาวา ที่ระบุให้ประเทศไทยต้องเก็บกู้ทุ่นระเบิดทั่วประเทศให้แล้วเสร็จในปี 2556 แต่ภารกิจดังกล่าวเป็นงานที่ยากยิ่ง เนื่องจากพื้นที่สงสัยเป็นทุ่นระเบิดในประเทศไทย มีมากถึง 2500 ตารางกิโลเมตร การสำรวจ การเคลียร์พื้นที่ รวมถึงการเก็บกู้ ล้วนแต่เป็นงานที่อันตรายและเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ดังนั้น การที่มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน เข้ามาช่วยเหลือด้านการสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดขอบเขตสนามทุ่นระเบิดให้ตรงตามความเป็นจริง และมีพื้นที่ลดลง จะช่วยให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ทำงานเก็บกู้ได้ง่ายและเสร็จเร็วขึ้น หากประเทศไทยสามารถปฏิบัติภารกิจให้เสร็จตามเวลา ก็ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีโลก ทำให้บทบาทของไทยในกลุ่มอาเซียนโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง ”
ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือที่เรียกว่าอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 อนุสัญญาดังกล่าวกำหนดให้รัฐบาลไทย ต้องเก็บกู้ทุ่นระเบิดทั้งหมดทั่วประเทศ ภายในปี 2556 ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมขึ้นมา 4 หน่วย เพื่อเร่งการเก็บกู้และกวาดล้างทุ่นระเบิดตามพื้นที่แนวชายแดน โดยเฉพาะด้านกัมพูชาที่มีทุ่นระเบิดมากกว่าร้อยละ 76 ของพื้นที่ทุ่นระเบิดทั้งประเทศ
แต่การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเก็บกู้ได้เพียง 50 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของพื้นที่สงสัยว่าเป็นทุ่นระเบิดทั่วประเทศ ที่มีประมาณ 2500 ตารางกิโลเมตร สาเหตุของความล่าช้ามาจากขอบเขตของสนามทุ่นระเบิดที่ใหญ่กว่าความเป็นจริงมาก ทำให้ไทยไม่สามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดได้ตามกำหนดของอนุสัญญาออตตาวา ดังนั้นในปี 2550 มูลนิธิ ลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ คิดค้นหาแนวทางเพื่อให้การปฏิบัติงานด้านเก็บกู้และกวาดล้างทุ่นระเบิด สามารถดำเนินการให้คืบหน้าเร็วขึ้น มีความปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
พล.ท.ธำรงค์ศักดิ์ ดีมงคล หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กล่าวในพิธีเปิดโครงการฯ ว่า “ตั้งแต่ปี 2549 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ได้คิดค้นหาแนวทางเพื่อให้การเก็บกู้และกวาดล้างทุ่นระเบิดนั้นสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น มีความปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ จนเป็นที่มาของโครงการสำรวจเพื่อปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดแบบบูรณาการ ซึ่งโครงการนี้จะกำหนดขอบเขตสนามทุ่นระเบิดใหม่ในพื้นที่สงสัยประมาณ 2000 ตารางกิโลเมตร ที่ชายแดนไทยด้านกัมพูชา จังหวัดตราด จันทบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ระยะเวลาดำเนินงานเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 — ตุลาคม 2552 โดยมอบหมายหน้าที่ให้แก่มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถกำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภัยประมาณ 1600 ตารางกิโลเมตร และเป็นสนามทุ่นระเบิดจริงเพียงประมาณ 400 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ”
นายเตช บุนนาค ประธานที่ปรึกษา มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน กล่าวในพิธีแถลงข่าวว่า “มูลนิธิฯ ได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกอาเซียน ให้ดำเนินโครงการฯ นี้ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก Japan-ASEAN Integrated Fund: JAIF 1.28 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหลังเสร็จสิ้นการสำรวจเพื่อปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดแล้ว มูลนิธิฯ ยังมุ่งเน้นการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้แต่ละชุมชนมีการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยทางมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายองค์กร มีการประสานงานกับภาคประชาชนและบริษัทเอกชน เพื่อการพัฒนาร่วมกันของประชากรในประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน และมูลนิธิที่จดทะเบียนดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มูลนิธิฯ มุ่งมั่นที่จะดำเนินงานพัฒนาภายใต้กรอบการทำงานระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยการดำเนินงานแบบมืออาชีพ ในรูปแบบขององค์กรอิสระที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เพื่อสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในขบวนการพัฒนาจากชุมชนระดับหมู่บ้าน
มูลนิธิฯ มุ่งเน้นที่จะช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนที่ได้มีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเรียบร้อยแล้ว และชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกลที่ด้อยโอกาส ด้วยการส่งเสริมการศึกษา สนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน และการสร้างสนามพัฒนาการเด็กวัยเรียน
มูลนิธิฯ ทำงานร่วมกับองค์กร และกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านศิลปะ อาทิ อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2544 และอ.กมล ทัศนาญชลี จัดทำ โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมศิลปะไร้พรมแดน” โดยจัดการฝึกอบรมด้านศิลปะให้แก่ผู้ด้อยโอกาส และคัดเลือกตัวแทนไปทัศนศึกษาที่ต่างประเทศ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเกิดความรักในศิลปะและวัฒนธรรม และพัฒนามิตรภาพระหว่างประชาชนในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ให้เป็นไปแบบบูรณาการ
นอกจากนี้ยังมี “โครงการบ้านหนังสือ” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนแบบบ้านจากสำนักวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที)
สำหรับโครงการพัฒนาด้านการเกษตร มูลนิธิฯได้ร่วมกับ ดร.นคร พงค์น้อย ผู้อำนวยการไร่แม่ฟ้าหลวง จัดสัมมนาการปลูกป่า เพื่อให้คำแนะนำในการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ดินและรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ในชุมชน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาแบบยั่งยืน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :-
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน
บริษัท แบรนด์คอม คอนซัลแทนส์ จำกัด
100/1 อาคารวรสมบัติ ชั้น 1RA ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320
โทรศัพท์ 02-645-0171 โทรสาร 02-645-0170