มทร.ล้านนา จับมือ มูลนิธิกสิกรไทย ตั้งศูนย์วนเกษตร-พฤกษเภสัช ร่วมมือพันธมิตรพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม บูรณาการองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ชุมชน พัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับมูลนิธิกสิกรไทย โดยสถาบัน เค อะโกร-อินโนเวทจัดตั้งศูนย์วนเกษตร-พฤกษเภสัช โดยมีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการมูลนิธิกสิกรไทย ร่วมลงนามความร่วมมือในด้านวิชาการ ปฏิบัติการ ทรัพยากร และบุคลากร ในการจัดตั้งศูนย์วนเกษตร-พฤกษเภสัช (Pharma-Agroforestry District: PAD) ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศส่วนต้นน้ำและกลางน้ำของห่วงโซ่คุณค่าใหม่ในการปลูกพืชให้เป็นยา โดยร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ รวบรวม วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงทั้งเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ ตลอดจนบูรณาการองค์ความรู้ในลักษณะสหวิชาชีพเพื่อถ่ายทอดให้แก่ชุมชน และนักศึกษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งการจัดตั้งศูนย์วนเกษตร-พฤกษเภสัช (Pharma-Agroforestry District: PAD) ที่จะสร้างนวัตกรรมทางพฤกษเภสัชด้วยการปลูกพืชให้เป็นยาณ มทร.ล้านนา น่าน นั้นจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยมีการจัดการเรียนการสอนทางด้านเกษตรศาสตร์ วิทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสามารถบูรณาการศาสตร์ความชี่ยวชาญต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งการศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับทางมูลนิธิกสิกรไทยจะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการศึกษาวิจัยของอาจารย์และนักศึกษา ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืช ไปเป็นยา ส่งต่อองค์ความรู้ดังกล่าวไปยังเกษตรกรในพื้นที่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืช สร้างรายได้สู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจส่งผลต่อการพัฒนาระดับชาติและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน สังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน"
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการมูลนิธิกสิกรไทย กล่าวว่า " ในนามของมูลนิธิกสิกรไทย โดยสถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งทึ่ได้ร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา การร่วมมือทางด้านการเกษตรและการเกษตรนวัตกรรมโดยมุ่งเน้นการเกษตรทางด้าน เกษตร-พฤกษเภสัช นั้นเป็นภารกิจสำคัญของสถาบัน เค อะโกร-อินโนเวทโดยมูลนิธิกสิกรไทยที่จะสร้างนวัตกรรมทางพฤกษเภสัชด้วยการปลูกพืชให้เป็นยา สร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นน้ำถึงปลายน้ำจากหลากหลายสาขาขององค์ความรู้ (E2E Multidisciplinary Value Chain Re-Creating) เพื่อให้คนน่านสามารถอยู่ร่วมกับป่า แก้ปัญหารายได้ให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งการคืนกลับมาของป่าต้นน้ำ ตามแนวทาง 72 18 10 ของโครงการน่าน แซนด์บ็อกซ์ (Nan Sandbox) โดยทางมูลนิธิจะเข้ามาร่วมผลักดันการปลูกพืชที่เป็นยา ผ่านศูนย์วนเกษตร-พฤกษเภสัช (Pharma-Agroforestry District: PAD) ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ซึ่งศูนย์นี้จะเป็นแหล่งรับถ่ายทอดและบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อเป็นต้นแบบการสร้าง และรวบรวมนวัตกรรมเพื่อชุมชน ทางด้านการพัฒนาสายพันธุ์ การปลูกและการสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญจากพืชและถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวไปยังเกษตรกร เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มนอกจากนี้ยังเป็นการ พัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ที่จะมีบูรณาการหลักสูตรการศึกษาที่สร้างขีดความสามารถใหม่ให้กับประเทศไทย จะส่งผลให้เกิดการการพัฒนานักศึกษา บุคลากรเศรษฐกิจ ชุมชน พร้อมยังเป็นการช่วยฟื้นคืนป่าน่านอันเป็นป่าต้นน้ำของประเทศ ทางมูลนิธิมีความเชื่อมั่นความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางและยั่งยืนต่อไป"
ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วนเกษตร-พฤกษเภสัช (Pharma-Agroforestry District: PAD) ครั้งนี้มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ดำเนินการ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.วิโรจน์ มงคลเทพ ผู้ช่วยอธิการบดี น่าน พร้อมบุคลากร นักศึกษา ร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้ประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้