กระทรวงสาธารณสุข เผย ผลการศึกษาภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด 19 พบมีประสิทธิผลต่อเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ดีกว่า BA.1 แสดงถึง BA.2 ไม่ได้หลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมากอย่างที่กังวล แต่การฉีด 2 เข็มระดับภูมิคุ้มกันยังไม่สูงเพียงพอ ต้องฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาทั่วโลก
11 เมษายน 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวเรื่องภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ถึง 95.9% คาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์จะมาแทนที่การระบาดของสายพันธุ์ BA.1 เป็น 100% เนื่องจาก BA.2 ความสามารถในการแพร่รวดเร็วกว่า ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย ขณะนี้ฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว 35-36% แต่เนื่องจากเชื้อโควิด 19 มีการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนอาจมีผลต่อแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ศึกษาผลของภูมิคุ้มกันที่มีต่อไวรัสโควิด 19 จริง ด้วยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน ต้องทดสอบภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 โดยนำซีรั่มจากเลือดที่มีภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว 2 สัปดาห์ มาสู้กับไวรัส BA.2 ที่เพาะเลี้ยงไว้ และเจือจางซีรั่มในระดับเท่าตัว เพื่อหาจุดที่ไวรัสถูกทำลาย 50% ด้วยแอนติบอดีในซีรั่ม หรือ PRNT50 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7-8 วันจึงทราบผล
ทั้งนี้ จากการตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อไวรัสทั้งกรณีได้รับวัคซีน 2 เข็ม และ 3 เข็ม พบว่า วัคซีนทุกสูตรให้ระดับภูมิคุ้มกันที่ต่อสู้กับไวรัสโอมิครอน BA.2 ได้มากกว่า BA.1 ดังนั้น ข้อกังวลว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้มากกว่าจึงไม่น่าเป็นจริง อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีน 2 เข็ม แม้จะเป็นช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีด พบว่าภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ไม่ได้สูงมากนัก ดังนั้น ถ้าฉีด 2 เข็มมาแล้วหลายเดือน ภูมิคุ้มกันจะยิ่งน้อยลง แต่เมื่อฉีดกระตุ้นเข็ม 3 พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับสูงมากต่อไวรัสโอมิครอน BA.2 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงขอแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้น (booster dose) โดยเร็วในคนที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม