SCB CIO ประเมินเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงขึ้นอีกเพื่อจัดการเงินเฟ้อ คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ต่อครั้ง ในการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า และขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 225 bps ในปี 2022 ซึ่งจะทำให้ ECB ต้องขยับขึ้นดอกเบี้ยตามในครึ่งหลังของปี ส่วนความกังวลเรื่อ ง Inverted yield curve ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดการเงินโลก และอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ด้านการจัดสรรพอร์ตการลงทุน แนะสะสมหุ้นเวียดนาม ที่ยังคงมีภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และ Asian REITs รองรับแผนเปิดเมืองที่มีความชัดเจนของไทยและสิงคโปร์ พร้อมให้มีเงินสดหรือสินทรัพย์สภาพคล่อง (Neutral) ในพอร์ตโฟลิโอ ส่วนหุ้นสหรัฐฯรอจังหวะสะสม เมื่อ Valuation เริ่มน่าสนใจ
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ Team Head of SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า รายงานการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐที่มีหน้าที่กำหนดควบคุมดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ย ( Federal Open market Committee : FOMC ) เมื่อ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงขึ้น รวมถึงการเริ่มนโยบายดึงสภาพออกจากระบบด้วยการปล่อยให้พันธบัตรที่ซื้อมาครบอายุ (Quantitative Tightening : QT )ในไตรมาส 2 นี้ เพื่อจัดการเงินเฟ้อ SCB CIO ยังคงมุมมองว่าเฟดจะ ขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และ มิถุนายน และคาดว่าในอีก 4 การประชุมที่เหลือของปีนี้ เฟด จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องครั้งละ 25 bps ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงของเฟด ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และจะกดดันให้ธนาคารกลางอื่นๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป ( ECB ) ต้องเร่งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย โดยคาดว่า ECB จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (depository rate) 50 bps ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อจัดการเงินเฟ้อ และชะลอการอ่อนค่าของค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับ US dollar
ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ขยับขึ้นเร็วทำให้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นเร่งตัวขึ้นและมีบางช่วงสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ทำให้ตลาดกังวลภาวะที่เรียกว่า inverted yield curve ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ตลาดการเงินโลกให้ความสำคัญในการพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ( recession )โดยเฉพาะในสหรัฐฯ จากสถิติในอดีตชี้ว่า การเกิด inverted yield curve ที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 2 ปี สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ไม่ได้ตามมาด้วย recession ทุกครั้งและในกรณีที่เกิดจะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยถึง 16 เดือนจึงจะเกิดภาวะ recession ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม inverted yield curve ส่งผลต่อการทำกำไรของธุรกิจภาคการเงินและธนาคาร ซึ่งหากภาคธุรกิจนี้ชะลอการปล่อยสินเชื่อ ก็มีโอกาสจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลง
SCB CIO ได้วิเคราะห์ผลตอบแทนสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในช่วงที่ตลาดกังวล inverted yield curve ในสหรัฐฯ และพบว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบเชิงลบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกและใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 11 เดือน S&P500 ถึงจะเข้าสู่จุดสูงสุด โดย 6 เดือนหลังจากเกิด inverted yield curve ดัชนี Russell 1000 บ่งชี้ว่า หุ้นในกลุ่ม growth ให้ผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่ม value เล็กน้อย ส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมใน S&P500 พบว่า กลุ่ม Utilities, Financials, Industrials, Healthcare และ Technology ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ
ดร.กำพล กล่าวต่อไปว่า กลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้ การจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (Asset allocation) มีความสำคัญมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง ในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนจากการปรับนโยบาย และความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ SCB CIO ยังคงแนะนำให้มีเงินสดหรือสินทรัพย์สภาพคล่อง (Neutral) ในพอร์ตโฟลิโอ ส่วนมุมมองการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ ด้วยแนวโน้มการเปิดเมืองและเปิดประเทศที่ชัดเจนของไทยและสิงคโปร์ รวมถึง Valuation ที่ยังไม่ตึงตัวเกินไป SCB CIO ได้ปรับมุมมอง Asian REITs เป็น Positive และยังคงมุมมอง Neutral สำหรับหุ้นในกลุ่ม DMs เนื่องจากตลาดมีแนวโน้มผันผวนสูงในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าจากสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงในสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจยุโรป สำหรับตลาด EMs เราคงมุมมอง Positive ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม จากการฟื้นตัวแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2022 และ valuation ที่ยังน่าสนใจ ในขณะที่มีมุมมอง slightly positive ต่อหุ้นไทย จาก valuation ที่เริ่มกลับมาตึงตัว