กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า
เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.45-33.90 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.64 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.55-33.70 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินเยนและเงินยูโรอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี และ 2 ปี ตามลำดับ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ระยะ 10 ปีของสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ส่วนข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ สูงเกินคาดแต่เงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมอาหารและพลังงานต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีมติคงดอกเบี้ยและยืนยันแผนการที่จะปรับลดขนาดการเข้าซื้อพันธบัตรและจะยุติโครงการดังกล่าวในไตรมาส 3/65 ขณะที่อีซีบียังคงคลุมเครือเกี่ยวกับกรอบเวลาสำหรับการเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยไม่กี่สัปดาห์หรืออาจจะหลายเดือนหลังจากยุติมาตรการซื้อสินทรัพย์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 347 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตร 6,710 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีคาดว่า นักลงทุนจะติดตามสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด), บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ, ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก, การแทรกแซงด้วยวาจาของทางการญี่ปุ่นต่อการอ่อนค่าและความผันผวนของค่าเงินเยน รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบสุดท้าย ขณะที่การสู้รบอย่างยืดเยื้อในยูเครนและมาตรการล็อคดาวน์ในจีนสร้างความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะคอขวดของห่วงโซ่การผลิตและผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยค่าเงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุนต่อเนื่องในระยะสั้นเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใสกว่าประเทศชั้นนำอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ตลาดรับรู้แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปค่อนข้างมากแล้ว ทั้งโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bp ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนควบคู่ไปกับการลดขนาดงบดุลของเฟด ในภาวะเช่นนี้ เรามองว่าโมเมนตัมขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์อาจแผ่วลงในช่วงครึ่งหลังของปี
สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลส่งออกนำเข้าเดือนมีนาคม แนวทางผ่อนปรนเกณฑ์ผู้เดินทางเข้าไทย และสถานการณ์ผู้ติดเชื้อหลังเทศกาลสงกรานต์ ทางด้านรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคมระบุว่า กนง.ประเมินเงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังส่งผ่านไปยังค่าจ้างได้จำกัดเพราะการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังเปราะบาง โดยกนง.มองว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้นและมีความเสี่ยงลดลง กนง.จะปรับเปลี่ยนการให้น้ำหนักแต่ละเป้าหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป