ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต บจ. เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ เป็นแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ; คงอันดับเครดิต ที่ 'A-(tha)'

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 19, 2022 14:02 —ThaiPR.net

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิต บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด หรือ HMC เป็นแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มเครดิตเป็นลบ  และประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ 'A-(tha)'

การปรับแนวโน้มเครดิตดังกล่าว สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ ว่าอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net debt to EBITDA) ของบริษัทฯ จะยังคงอยู่ต่ำกว่า 3.3 เท่าในปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต เนื่องจาก HMC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดในปี 2564 ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินต่ำกว่าที่คาด  ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ จะปรับตัวลดลง และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิหลังจากการจ่ายเงินปันผล จะยังคงติดลบในปี 2565 ซึ่งจะทำให้อัตราส่วน Net debt to EBITDA ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นในปี 2565 แต่น่าจะยังคงต่ำกว่า 3.3 เท่า

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ HMC ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นหนึ่งอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ HMC ที่อยู่ที่ 'bbb+(tha)' ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระดับปานกลางระหว่างบริษัทฯ กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC  (อันดับเครดิตที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มเครดิตเป็นลบ; สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ 'aa-(tha)') ซึ่งถือผู้หุ้นรายใหญ่ที่สุดของ HMC โดยถือหุ้นร้อยละ 41

อันดับเครดิตโดยลำพังของ HMC สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) ในประเทศไทย ความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถมุ่งเน้นในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตได้ถูกลดทอนจากการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่จำกัด ความผันผวนของธุรกิจปิโตรเคมี และอัตราส่วนหนี้สินของ บริษัทฯ ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลาง

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ความสามารถในการรองรับการเพิ่มของอัตราส่วนหนี้สินโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้น: อัตราส่วน Net debt to EBITDA ของบริษัทฯ ลดลงมาอยู่ที่ 1.7 เท่าในปี 2564 (ปี 2563 อยู่ที่ 2.6 เท่า) ซึ่งดีกว่าที่ฟิทช์ได้คาดไว้ ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ถึง 4 เท่า  เนื่องจากกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ที่สูงกว่าที่คาด รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) line 4 ที่ต่ำกว่าที่คาด   อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้บริษัทฯ มีความสามารถรองรับการลงทุนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2565 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาดจากความล่าช้าในการเริ่มการผลิตของโครงการ PP line 4     กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 4.6 พันล้านบาทในปี 2564 (ปี 2563 อยู่ที่ 2.7 พันล้านบาท) เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (Product spreads) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้ว่าปริมาณการขายจะลดลงในปี 2564 เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานผลิต PP ตามแผนของบริษัทฯ

EBITDA ที่คาดว่าจะลดลง: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของ HMC น่าจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.2 พันล้านบาทในปี 2565 เนื่องจากฟิทช์คาดว่าส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของบริษัทฯ จะปรับตัวลดลง จากกำลังการผลิต PP ใหม่ที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรม  นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น น่าจะกดดันส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบให้ปรับตัวลดลง    ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของ HMC จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 4-4.5 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2566-2567  จากกำลังการผลิตใหม่จาก PP line 4 นอกเหนือจากการเติบโตของความต้องการตามปกติ ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ปรับตัวลดลง ในปี 2566-2567  

ความล่าช้าของโครงการ PP line 4: HMC คาดว่าจะเลื่อนการเริ่มการผลิต โครงการ PP line 4 ไปเป็นในครึ่งปีหลังของปี 2565 จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มในครึ่งปีแรก เนื่องจากการก่อสร้างมีความล่าช้าจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส อย่างไรก็ตาม HMC กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในโครงการ PP line 4 จะลดลงประมาณร้อยละ 14 จากเดิมที่เคยคาดการเอาไว้ที่ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น (Contingent liabilities) ที่น้อยกว่าที่คาด และค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าที่ประมาณการเอาไว้ในแผน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในปี 2565 จะยังคงสูงอยู่จากการก่อสร้างโครงการ PP line 4 ที่มีกำลังการผลิตที่ 250,000 ตันต่อปี โดยคาดว่าเงินลงทุนในโครงการส่วนที่เหลือประมาณ 1.5 พันล้านบาท จะถูกใช้ในปี 2565 HMC มีการจัดหาเงินกู้จำนวนหนึ่งหมื่นล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนนี้ไว้แล้ว

มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม: HMC มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งจะมีการแข่งขันที่น้อยกว่าและมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า โดยบริษัทฯ มีสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 55 ของยอดขายในปี 2564 จากประมาณร้อยละ 35 ในปี2558 แม้ว่าสัดส่วนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะลดลงในช่วงการเริ่มดำเนินการผลิตโครงการ PP line 4 บริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้สูงขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 70 ภายในปี 2573 ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็น Commodity grade โดยเฉลี่ยประมาณ ร้อยละ5 ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีอัตราส่วนกำไรสูงกว่าคู่แข่ง

ผู้นำในธุรกิจ PP ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: HMC เป็นผู้ผลิต PP รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณหนึ่งในสาม   กำลังการผลิต PP ของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปีในปี 2565 หลังจาก PP line 4 แล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ เป็นผู้ผลิต PP รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้    นอกจากนี้ สถานะทางการตลาดของบริษัทฯ ยังได้รับปัจจัยเสริมจากการที่บริษัทฯ มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะตัว รวมถึงการผลิตวัตถุดิบบางส่วนเอง โดยมีการผลิตโพรพิลีนจากโรงงาน  Propane Dehydrogenation

ผู้นำในด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์: HMC ใช้เทคโนโลยีการผลิต PP ชั้นนำของโลกจาก LyondellBasell ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ นอกจากนี้ PP line 4 จะใช้เทคโนโลยีการผลิต PP ที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งจะเป็นเพียงหนึ่งในสองโรงงานในโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ที่จะสามารถใช้ C6 เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของ PP และเพิ่มชนิดของผลิตภัณฑ์สำหรับการใช้งานใหม่ๆ HMC เป็นผู้นำในการผลิต PP ที่ใช้ในการผลิตท่อและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิต PP รายแรกของโลกที่ทำแผ่นฟิล์ม?ไดอีเลคตริค ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทฯ จะขายภายใต้เครื่องหมายการค้าของ LyondellBasell ซึ่งเป็นยอมรับทั่วโลก

ความผันผวนของธุรกิจและความหลากหลายที่จำกัด: อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดทอนจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่จำกัด และความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจ กำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ จะถูกกระทบอย่างมากจากความผันผวนของราคาและส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และอุปสงค์และอุปทานของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ HMC มีผลิตภัณฑ์ PP เพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์น้อยกว่าผู้ผลิตปิโตรเคมีรายอื่นในประเทศ

ความเชื่อมโยงกับ PTTGC: ฟิทช์ประเมินแรงจูงใจของ PTTGC ในการให้การสนับสนุนแก่ HMC อยู่ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology)  HMC เป็นผู้รับซื้อโพรพิลีนรายใหญ่ของ PTTGC และเป็นบริษัทหลักในธุรกิจ PP ของ PTTGC  นอกจากนี้ PTTGC ยังมีข้อตกลงที่จะไม่แข่งขันกับ HMC ในธุรกิจนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในเชิงกลยุทธ์ของทั้งสองบริษัท  ฟิทช์เชื่อว่า PTTGC มีแนวโน้มที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ HMC มากกว่าสัดส่วนการถือหุ้นหากจำเป็น  ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ฟิทช์พิจารณาว่า แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ HMC ในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) อยู่ในระดับปานกลาง   

PTTGC ไม่ได้มีอำนาจควบคุมการบริหารทั้งหมดของ HMC เนื่องจาก LyondellBasell มีตัวแทนเป็นคณะกรรมการของ HMC และมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของ HMC โดยมีการหมุนเวียนกันเป็นผู้บริหารระดับสูงของ HMC  นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทฯ ขายภายใต้เครื่องหมายการค้าของ LyondellBasell  ดังนั้น ฟิทช์ประเมินแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ HMC ในด้านความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) อยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกันกับแรงจูงใจทางกฎหมาย (Legal incentive)

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

HMC มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขั้นปลาย และปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต ในขณะที่สถานะทางการเงินก็อยู่ในระดับปานกลาง

HMC มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า และมีธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้นและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC (อันดับเครดิตที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ; สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ 'bbb(tha)')  อย่างไรก็ตาม HMC มีเทคโนโลยีด้านการผลิตสูงกว่า และผลิตภัณฑ์ที่ก้าวหน้ากว่า IRPC และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่า IRPC แม้ว่าจะไม่พิจารณารวมธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจาก HMC มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะตัว  ประกอบกับ HMC มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า ดังนั้น HMC จึงมีอันดับเครดิตโดยลำพังสูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ IRPC อยู่หนึ่งอันดับ

ฟิทช์มองว่า HMC มีสถานะทางธุรกิจดีกว่าบริษัทในกลุ่มผู้ผลิตโพลิเมอร์และพลาสติกซึ่งได้แก่ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และ บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อยู่เล็กน้อย  ฟิทช์เชื่อว่าการเป็นผู้นำในธุรกิจ PP ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยลดทอนการที่บริษัทมีการกระจายตัวทางธุรกิจตามภูมิภาคที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ PTL และความหลากหลายของธุรกิจของลูกค้าที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ EPG   อย่างไรก็ตาม  HMC มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า ซึ่งทำให้อันดับเครดิตโดยลำพังของ HMC อยู่ต่ำกว่า PTL และ EPG

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

  • ปริมาณการขายเพิ่มประมาณร้อยละ 15 ในปี 2565 (ปี 2564 ลดลงร้อยละ 11) เนื่องจากในปี 2564 มีการหยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผน และการเริ่มการผลิต PP line 4 และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 24 ในปี 2566 เนื่องจากการผลิต PP line 4 เต็มปี
  • ส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบลดลงในปี 2565 แล้วค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2566-2567
  • PP line 4 เริ่มผลิตในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 250,000 ตันต่อปี
  • เงินลงทุน 1.5 พันล้านบาทในปี 2565 สำหรับ PP line 4 รวมกับเงินลงทุนอื่นๆ 1.0-1.7 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2565-2567 สำหรับการซ่อมบำรุงและการปรับปรุงคุณภาพการผลิต
  • จ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 90 ในปี 2565-2567

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

  • สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสาคัญ อาทิ ขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ/หรือ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้นอย่างนัยสำคัญ โดยสามารถรักษาให้อัตราส่วน Net debt/EBITDA ต่ำกว่า 2.3 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ PTTGC ที่เพิ่มสูงขึ้น

ปัจจัยลบ:

  • กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง หรือการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและการจ่ายปันผลที่สูงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ อัตราส่วน Net debt/EBITDA สูงกว่า 3.3 อย่างต่อเนื่อง
  • ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ PTTGC ที่ลดน้อยลง

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่เพียงพอ: HMC มีหนี้สินอยู่ประมาณ 1.03 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 1.2 พันล้านบาท หุ้นกู้จำนวน 5 พันล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินจำนวน 4.1 พันล้านบาท  HMC มีการออกหุ้นกู้จำนวน 5 พันล้านบาทในปี 2563 เพื่อชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน   เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินจำนวน 4.1 พันล้านบาท เป็นการเบิกใช้จากวงเงินกู้ยืมจำนวนหนึ่งหมื่นล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนใน PP line 4        ฟิทช์มองว่าสภาพคล่องของบริษัทฯ อยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยบริษัทฯ มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.3 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่ไม่สามารถยกเลิกได้จากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 4 พันล้านบาท   

ข้อมูลของบริษัท
HMC เป็นผู้ผลิต PP รายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยกำลังการผลิต 810,000 ตันต่อปี ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.06 ล้านตันต่อปี ในปี 2565 เมื่อ PP line 4 แล้วเสร็จ

สรุปรายการปรับปรุงงบการเงินที่สาคัญ
หุ้นบุริมสิทธิที่ถือโดยผู้ถือหุ้นตามสัดส่วน ไม่ได้นับรวมเป็นหนี้สิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ