ทำไม?... ผู้หญิงทุกคนถึงเสี่ยงเป็น "มะเร็งเต้านม"
มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปากมดลูก โรคร้ายนี้อาจจะเกิดขึ้นกับคุณได้โดยไม่ทันรู้ตัว?
เนื่องจากเต้านมเป็นอวัยวะของเพศหญิงที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนในเพศหญิง เป็นสารกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมให้มีการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้น ดังนั้นเซลล์เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ถ้าเต้านมใครมีระยะเวลาการอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนนาน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เช่นคนที่มีประจำเดือนครั้งแรกเร็วกว่าปกติ คือมีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี และหมดช้ากว่าอายุ 55 ปี คนที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรหลังอายุ 30 ปี จะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายได้ หากรักษาเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ดังนั้นการรู้ตัวก่อนว่ามีก้อนมะเร็งอยู่ในเต้านมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ เพื่อทำความคุ้นเคยกับเต้านม จะทำให้เราสามารถค้นพบสิ่งผิดปกติได้ง่าย
แนะนำให้คุณผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป หมั่นสังเกตความผิดปกติและตรวจเต้านมของตัวเองอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติให้มาพบแพทย์ทันที และคุณผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป นอกจากการตรวจเต้านมด้วยตัวเองแล้ว ควรตรวจเต้านมโดยแพทย์และตรวจเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ด้วยอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะหากตรวจพบสิ่งผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็จะช่วยให้โรคไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ และมีโอกาสรักษาให้หายได้
วิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเองและแมมโมแกรมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม คลิกอ่าน >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/251
แผนกสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลรามคำแหง สายด่วนสุขภาพโทร 0 2743 9999 ต่อ 2220, 2229