เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กับโครงการ "ไทยทะยาน" ภายใต้แนวคิด 'ทะยานให้สร้างสรรค์ ปั้นไทยด้วยมือ GEN Z' โครงการประกวดการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานเพิ่มมูลค่าให้กับศิลปวัฒนธรรมไทยจากรากเหง้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ โดยวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (TASSHA) ภาควิชาการ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และภาคเอกชน โดยการจัดขึ้นในครั้งแรกนี้ มีนักศึกษาคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ ที่ให้ความสนใจและร่วมเข้าประกวดสร้างสรรค์ผลงานออกแบบเป็นจำนวนมาก กว่า 700 ผลงาน และล่าสุดได้ทำการประกาศผลการตัดสิน และมีการมอบรางวัลรวมถึงการจัดแสดงทิทรรศการผลงานของน้อง ๆ ซึ่งเรียกเสียงชื่นชมได้เป็นอย่างมาก
รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะคณะผู้ดำเนินการโครงการฯ กล่าวว่า หลังจากที่โครงการประสบความสำเร็จ และได้สุดยอดคนรุ่นใหม่ผู้ชนะการประกวดในแต่ละประเภทการแข่งขันแล้ว ทางโครงการฯ ได้มีการนำผลงานของนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการและผ่านเข้ารอบมาจัดแสดงในนิทรรศการ "ไทยทะยาน" เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ผ่านผลงานการสร้างสรรค์ นำเอาภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของชาติไทยมาเพิ่มมูลค่า ซึ่งถือเป็นที่น่ายินดี ที่มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้เล็งเห็นคุณค่าของผลงานจากฝีมือความคิดสร้างสรรค์ของน้อง ๆ ในการนำผลงานไปต่อยอดจริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเหมือนอีกก้าวสำคัญในการต่อยอดผลงาน และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ให้นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยที่มีค่ามาต่อยอด และเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติในอนาคต
มาที่น้องๆ นักศึกษาเจ้าของรางวัลชนะเลิศ ในแต่ละประเภท เริ่มจากประเภทการออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย นายโชติวงศ์ เฉลิมพงศ์พิพัฒน์ หรือ น้องหนึ่ง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา เจ้าของผลงานที่มีชื่อว่า "ปืนใหญ่ พญาตานี" กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดเวทีใหญ่ขนาดนี้ ที่สำคัญคือรู้สึกภูมิใจอย่างมากที่ได้นำเอาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นเมืองของจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง มาถ่ายทอดให้ทุกคนได้เห็นกัน สำหรับผลงานได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก ปืนใหญ่พญาตานี ซึ่งเป็นไอคอนของจังหวัดปัตตานี โดยได้นำผ้าพื้นเมืองของจังหวัดปัตตานี เช่น ผ้าจวนตานี และ ผ้าลีมาบาติก มาเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบด้วย
ในส่วนของการออกแบบเครื่องประดับสะท้อนอัตลักษณ์ไทยสู่สากล รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวรุ่งอรุณ แซ่อึ้ง หรือ น้องตั๊ก นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เจ้าของผลงาน "Up and downs" โดยเล่าว่า สำหรับผลงาน Ups and Downs ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก การตีความจากคำว่า "เบญจเพส" ที่หมายถึงช่วงชีวิตที่มีการผันเปลี่ยน มีขึ้นมีลง เสมือนเส้นกราฟชีวิต โดยได้นำนพเก้าอัญมณีมงคล 9 ชนิด ที่ช่วยเสริมพลังให้กับดวงชะตา ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในสังคม มาผสมผสานในการออกแบบ ให้มีความเป็น modern และสามารถเข้าถึงกลุ่มคนสมัยใหม่อย่างเจน Z ได้เป็นอย่างดี
ในส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านจิตรกรรม ประติมากรรมและสื่อผสมแสดงถึงความเป็นไทย เป็นของ นางสาวกรกนก ฉั่วรัตนกุล หรือ น้องมิน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรม สาขาการออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงาน "หลังคา" โดยกรกนกเล่าว่า การออกแบบผลงานได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนแออัด ซึ่งหลังคาของบ้านแต่ละหลังเปรียบเสมือนตัวเชื่อมความเป็นครอบครัว เป็นอ้อมแขนที่จะคอย โอบอุ้มทุกชีวิตในชุมชนแออัดในยามที่เหนื่อยล้า ซึ่งเปรียบเสมือนกับนิสัยใจคอของคนไทยที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว และความมีน้ำใจ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
"โครงการไทยทะยาน เป็นโครงการที่ดีมากในการจะช่วยผลักดันให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้แนวคิด และความรู้ของ คนไทยมาใช้ร่วมกันกับความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ในการสร้างสรรค์ผลงาน รวมไปถึงนำมาใช้ต่อยอดในด้านอื่น ๆ ในอนาคตได้อีกด้วย"
สำหรับรางวัลชนะเลิศ การสร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณาเพื่อส่งเสริมความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก ได้แก่ ผลงาน "เที่ยวไทยครบรส" จากทีมน้อง ๆ นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย นายศรุต เตชะสิริไพบูลย์, นายวรัญชัย เจริญโชติ, นางสาวชลลดา ไชยโรจน์วัฒนา และ นายวรัญชัย เจริญโชติ หรือ น้องป๊อปคอร์น ซึ่งเป็นตัวแทนของทีม เผยถึงความรู้สึกว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมกันทำผลงานกับเพื่อน ๆ จนประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ถือเป็นความตั้งใจของทุกคนในทีม, อาจารย์ที่ปรึกษาในโครงการ และคณะวิทยากรต่าง ๆ ที่ให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานให้กับพวกเรา ซึ่งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้มาจากการหยิบยกเอาวัฒนธรรมอาหารไทยที่มีรสชาติทั้ง เค็ม เปรี้ยว หวาน เผ็ด และทุกคนสามารถเข้าถึงความเป็นไทยได้ง่าย ๆ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจและเข้าถึงง่าย
"โครงการไทยทะยานนี้เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่มาก ซึ่งต้องขอขอบคุณทางโครงการและอาจารย์ที่ปรึกษา รวมถึงวิทยากรทุกคนที่ได้ให้ความรู้ต่าง ๆ แก่พวกเรา และการได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้นับว่าเป็นประการณ์ที่ดีเป็นอย่างมาก ทำให้เราได้ทั้งความรู้และเพื่อนใหม่ ๆ จากต่างสถาบัน และที่สำคัญเราได้รู้ถึงเสน่ห์และความสำคัญของภูมิปัญญา และวิถีชีวิตไทย ที่คนรุ่นใหม่หลายๆคนอาจจะมองข้ามไป ซึ่งครั้งนี้เราได้สื่อและตีความส่งไปยังสังคมให้พวกเขาได้รับรู้ ซึ่งขอบคุณโอกาสที่ดีครั้งนี้ครับ" วรัญชัย กล่าวทิ้งท้าย
ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ศาสตร์ความรู้ทางวิชาการเข้าไปและเพิ่มมูลค่าให้กับศิลปวัฒนธรรมไทย อันจะก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมจนสามารถนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ต่อไป