บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ Makro เป็นมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มเครดิตเป็นลบ และคงอันดับเครดิตที่ 'A-(tha)' นอกจากนี้ ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ของ Makro ที่ 'F2(tha)' ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศยกเลิกอันอับเครดิตทั้งหมดของ Makro ตามแผนพัฒนาธุรกิจของฟิทช์
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตและการคงอันดับเครดิตของ Makro เป็นไปตามการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL เป็นมีเสถียรภาพ จากเป็นลบ และการประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของ CP ALL ที่ 'A-(tha)' โดยอันดับเครดิตของ Makro ได้รับการจัดอันดับเครดิตเท่ากับสถานะเครดิตของกลุ่ม CP ALL (Consolidated Profile) จากการพิจารณาระดับความสัมพันธ์ของบริษัทแม่และบริษัทย่อย ตามหลักเกณฑ์ของฟิทช์เรื่อง Parent Subsidiary Linkage ในแต่ละด้านดังนี้ ข้อจำกัดทางกฎหมายสำหรับบริษัทแม่ในการสร้างภาระผูกพันหรือใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ของบริษัทย่อย อยู่ในระดับต่ำ ('Open' Legal Ring-fencing) และ ข้อจำกัดในการเข้าถึงและควบคุมบริษัทย่อยทางด้านการบริหารและการเงินโดยบริษัทแม่ อยู่ในระดับต่ำ ('Open' Access & Control)
ฟิทช์มีความเห็นว่าสถานะเครดิตของ Makro มีความแข็งแกร่งกว่าบริษัทแม่ ทำให้สถานะเครดิตโดยลำพังของ Makro อยู่ที่ระดับ a(tha) ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ Makro ที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ในบริษัท ซี.พี. รีเทลดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ CPRD ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ในบริษัทผู้บริหารร้านค้า Lotus's ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าขนาดใหญ่ที่เน้นจำหน่ายสินค้าแก่ผู้บริโภครายย่อย (B2C) ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ซึ่งชดเชยอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นจากการรวมหนี้สินของธุรกิจ Lotus's
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อันดับเครดิตขึ้นกับบริษัทแม่: ฟิทช์เชื่อว่าการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในกลุ่ม CP ALL ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอำนาจในการควบคุมของ CP ALL ที่มีต่อ Makro อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นของ CP ALL ใน Makro จะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 60 จากร้อยละ 93 ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยของ Makro ได้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันที่อยู่ในกลุ่ม CP เป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันร้อยละ 26.5 อันดับเครดิตสุดท้ายของ Makro ได้รับการจัดอันดับเครดิตเท่ากับสถานะเครดิตของกลุ่ม CP ALL (Consolidated Profile) เนื่องจากฟิทช์มีความเห็นต่อ ความสัมพันธ์ระหว่าง CP ALL และ Makro ในฐานะบริษัทแม่และบริษัทย่อยว่า ข้อจำกัดทางกฎหมายสำหรับบริษัทแม่ในการสร้างภาระผูกพันหรือใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ของบริษัทย่อยอยู่ในระดับต่ำ ('Open' Legal Ring-fencing) และ ข้อจำกัดในการเข้าถึงและควบคุมบริษัทย่อยทางด้านการบริหารและการเงินโดยบริษัทแม่อยู่ในระดับต่ำ ('Open' Access & Control)
ข้อจำกัดทางกฎหมายในการสร้างภาระผูกพันต่อบริษัทย่อยอยู่ในระดับต่ำ: ฟิทช์พิจารณาว่า ข้อจำกัดตามสัญญา สำหรับบริษัทแม่ในการสร้างภาระผูกพันหรือใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ของบริษัทย่อยอยู่ในระดับต่ำ ('Open' Self-imposed Condition) เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดตามสัญญาใดในเรื่องการจ่ายเงินปันผลของ Makro และการให้กู้ยืมเงินระหว่างกันระหว่างสองบริษัท ในขณะเดียวกัน ข้อจำกัดตามกฎหมายเฉพาะที่ควบคุมก็อยู่ในระดับต่ำ ('Open' Regulatory Ring-fence) เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายเฉพาะที่ควบคุม เนื่องจากธุรกิจของทั้งสองบริษัทไม่ได้เป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะควบคุม
ข้อจำกัดในการเข้าถึงและควบคุมโดยบริษัทแม่อยู่ในระดับต่ำ: ฟิทช์มีความเห็นว่า ปัจจัยด้านอำนาจควบคุมของ CP ALL เหนือ Makro อยู่ในระดับสูง ('Open' Effective Control) จากการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพียงรายเดียว โดยไม่มีสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่มีนัยสำคัญ ในขณะที่ปัจจัยด้านความมีอิสระในการดำเนินนโยบายจัดหาเงินทุนและบริหารเงินสดของบริษัทย่อย อยู่ในระดับปานกลาง ('Porous' Funding and Cash Management Policy) แม้ว่าทั้งสองบริษัทจะไม่มีนโยบายจัดหาเงินทุนแบบรวมศูนย์ก็ตาม ทั้งนี้ ฟิทช์มองว่า CP ALL มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารการเงิน การจัดหาเงินทุนในระยะยาวของ Makro โดยสะท้อนให้เห็นได้จากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ผ่านมา ซึ่งธุรกิจของ Lotus's ได้ถูกย้ายจากการเป็นบริษัทร่วมของ CP ALL มาเป็นบริษัทย่อยที่ Makro ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 รวมถึงการที่ Makro ให้การค้ำประกันต่อหนี้สินระยะสั้นที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการ Lotus's
ขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น: หลังจากการรวมธุรกิจ Lotus's กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ Makro น่าจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวมาอยู่ในระดับประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 Makro กลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าขนาดใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในด้านยอดขายและจำนวนร้านค้า ในขณะที่เครือข่ายร้านค้าในต่างประเทศจะรวมถึงประเทศมาเลเซีย จากเดิมที่มีธุรกิจในประเทศกัมพูชา อินเดีย จีน และเมียนมา ซึ่งเป็นการเพิ่มการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ โดยสัดส่วนรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ถึง 15 ในปี 2565-2566 จากระดับต่ำกว่าร้อยละ 5 ในปี 2564 นอกจากนี้ Makro ยังน่าจะได้รับประโยชน์จากการใช้ระบบนิเวศทางธุรกิจร่วมกันกับ Lotus's อีกด้วย
ฐานลูกค้าที่มีการกระจายตัวมากขึ้น: ฐานลูกค้าของ Makro ประกอบด้วยร้านค้าปลีกรายย่อย ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหารและธุรกิจจัดเลี้ยง (HORECA) และลูกค้าองค์กรเป็นหลัก ในขณะที่ Lotus's ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านมินิซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีฐานลูกค้าเป็นลูกค้าครัวเรือนและลูกค้าบุคคล ดังนั้นการรวมธุรกิจ Lotus's น่าจะทำให้ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าของ Makro ลดลง
อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้น แต่สถานะเครดิตไม่เปลี่ยนแปลง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของ Makro น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 3-4 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากระดับน้อยกว่า 1 เท่าในปี 2563 เนื่องจากระดับหนี้สินที่สูงขึ้นจากการรวมธุรกิจ Lotus's อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของ Makro สามารถชดเชยอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นได้ ดังนั้น สถานะเครดิตโดยลำพังของ Makro จึงยังคงอยู่ในระดับ a(tha) โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
รายได้ยังคงเติบโตสม่ำเสมอ: ฟิทช์คาดว่ารายได้จากธุรกิจค้าส่งของ Makro จะเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 8 ในปี 2565 และร้อยละ 10 ในปี 2566 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของลูกค้ากลุ่ม HORECA หลังจากการเปิดประเทศอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และการเริ่มกลับมาขยายสาขา ธุรกิจของ Makro ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดน้อยกว่าบริษัทในธุรกิจค้าปลีกรายอื่นในประเทศ ซึ่งฟิทช์มองว่าผลประกอบการที่ดีของ Makro มีปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายที่ให้บริการแบบ Omni Channel และการมีสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่น
การฟื้นตัวของธุรกิจ Lotus's: ฟิทช์คาดว่าธุรกิจของ Lotus's จะฟื้นตัวโดยมีอัตราการเติบโตของยอดขายที่ร้อยละ6-7 ในปี 2565 และประมาณร้อยละ 9 ในปี 2566 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลังจากสถานการณ์โรคระบาดผ่อนคลายลง รวมถึงการขยายสาขาของร้าน Lotus's EBITDA margin ของธุรกิจ Lotus's ซึ่งรวมถึงรายได้จากค่าเช่าพื้นที่น่าจะอยู่ในระดับร้อยละ 8-9 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่า EBITDA margin จากธุรกิจค้าส่งของ Makro ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.0-5.5 Lotus's มีแผนที่จะเปิดร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 9 แห่งและมินิซูเปอร์มาร์เก็ต 230 แห่งในประเทศไทย และซูเปอร์มาร์เก็ต 13 แห่งในประเทศมาเลเซีย ในปี 2565
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของ Makro ได้รับการจัดอันดับตามสถานะเครดิตโดยรวมของกลุ่ม CP ALL ทั้งนี้ CP ALL มีสถานะทางการตลาดในประเทศไทยที่แข็งแกร่ง ในฐานะผู้ประกอบการค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดในร้านค้าปลีกรูปแบบหลัก ซึ่งเปรียบเทียบได้กับบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (A+(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มี EBITDAที่สูงกว่าเล็กน้อยและมีการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม SCC ต้องเผชิญกับความต้องการสินค้าที่มีลักษณะเป็นวัฏจักรและความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ CP ALL มีอันดับเครดิตต่ำกว่า SCC สองอันดับ เนื่องจากมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าเป็นอย่างมาก
CP ALL มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศ เนื่องจาก GPSC มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูง เนื่องจากมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม GPSC น่าจะมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า CP ALL ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น CP ALL จึงมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกับสถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC
CP ALL มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (BBB+(tha) /แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ดังนั้น อันดับเครดิตของ CP ALL จึงสูงกว่าอันดับเครดิตของ BAFS หนึ่งอันดับ BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยานเพียงรายเดียว และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 2 แห่ง กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงกว่า CP ALL ทั้งสองบริษัทน่าจะมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับใกล้เคียงกันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ BAFS สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ BAFS ต้องเผชิญในการลดอัตราส่วนหนี้สินให้ลงมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน
ในส่วนของสถานะเครดิตโดยลำพังของ Makro นั้น Makro มีสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่าบริษัทแม่ คือ CP ALL ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากสถานะเครดิตโดยลำพังของ Makro ที่ a(tha) โดยอัตราส่วนหนี้สินของ Makro ที่ต่ำกว่าเป็นอย่างมากสามารถชดเชยกับขนาดของธุรกิจที่เล็กกว่าและสถานะทางการตลาดที่อ่อนแอกว่า CP ALL
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- อัตราการเติบโตของรายได้ประมาณร้อยละ 73 ในปี 2565 จากการรวมธุรกิจ Lotus's เข้ามาในงบการเงินรวมเต็มปีเป็นปีแรก และเติบโตร้อยละ 9-10 ในปี 2566 และร้อยละ 7-8 ในปี 2567
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 8.0 ในปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการรวมธุรกิจ Lotus's ที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า และคงที่ในระดับนี้ในช่วงปี 2566-2567
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท-1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ค่าใช้จ่ายลงทุนในการขยายสาขาร้าน 7-Eleven Makro และ Lotus's โดยในปี 2565-2566 รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนสำหรับการปรับปรุงร้านค้าและการ รีแบรนด์ด้วย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ไม่มี เนื่องจากฟิทช์ประกาศยกเลิกอันดับเครดิต
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: Makro (รวม Lotus's) มีหนี้สินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 โดยประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท จะครบกำหนดชำระภายในปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่เงินกู้ระยะสั้นของ CPRD สภาพคล่องของ Makro มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากจากเงินสดในมือจำนวน 6.9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 ซึ่งรวมถึงเงินได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญของ Makro แก่ประชาชน (Public Offering) จำนวน 3.3 หมื่นล้านบาทเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 ด้วย ซึ่งบางส่วนของเงินดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ชำระหนี้
เงินสดในมือของ Makro อยู่ในระดับเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนดชำระและกระแสเงินสดสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการจ่ายเงินปันผล (Free cash flow) ที่เป็นลบประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ตามประมาณการของฟิทช์
ลักษณะธุรกิจ
Makro เป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่งสมัยใหม่ประเภทอาหาร (Modern-Trade Food Wholesale) ในประเทศไทย โดยเน้นการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อย ผู้ประกอบการกลุ่ม HORECA รวมถึงลูกค้าที่เป็นองค์กร Makro มีสาขาจำนวน 142 สาขาในประเทศไทย และ 7 สาขาในต่างประเทศ ได้แก่ประเทศกัมพูชา อินเดีย จีน และ เมียนมา ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 Makro ได้เข้าซื้อธุรกิจ Lotus's ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซียในเดือนตุลาคม 2564 Lotus's มีร้านค้าจำนวน 2,618 ร้านในประเทศไทยและ 62 ร้านในประเทศมาเลเซีย
อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ Makro เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตของ CP ALL ตามหลักเกณฑ์เรื่อง Parent Subsidiary Linkage