กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--สช.
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มติหนุนรัฐบาลเดินหน้าประกาศใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร ระบุรัฐจำเป็นต้องสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่า CL เป็นสิทธิอันชอบธรรมภายใต้กฎหมายและข้อตกลงองค์การการค้าโลก ไม่ใช่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
โรงแรมโรสการ์เด้น สวนสามพราน - วันนี้ (14 มีนาคม 2551) มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นการประชุมสัญจรมายังจังหวัดนครปฐม นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมติดภารกิจ ที่ประชุมจึงมอบให้นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ทำหน้าที่ประธานการประชุมในครั้งนี้ โดยมีวาระสำคัญพิจารณาเรื่องนโยบายการประกาศใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร หรือ CL เนื่องจากมีองค์กรและบุคคลต่างๆ ได้เข้าชื่อร่วมกันและยื่นหนังสือต่อ คสช.เพื่อพิจารณาประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเรื่องนโยบายการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐต่อยาต้านโรคมะเร็ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะองค์กรเลขานุการของ คสช. ได้ศึกษานโยบายการประกาศใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร และนำเข้าสู่การพิจารณาของ คสช. ในวันนี้
นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยว่า คสช. มีมติร่วมกันที่จะสนับสนุนรัฐบาลในการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาเพื่อขยายการเข้าถึงยาจำเป็นสำหรับผู้ป่วย โดยจะนำเสนอความเห็นของ คสช. ใน 3 ประเด็น คือ 1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจถึงความถูกต้องตามกฎหมายในการดำเนินการของรัฐบาลไทย ความจำเป็นและประโยชน์ที่สังคมไทยจะได้รับ 2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการสร้างความเข้าใจว่า CL ไม่ใช่มาตรการเดียวที่ประเทศไทยจะนำมาใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา แต่ยังมีการใช้มาตรการอื่นๆ ร่วมด้วย และการทำ CL ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการที่จัดประเทศไทยเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หรือประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขั้นรุนแรง หรือการถูกระงับสิทธิทางภาษีศุลกากร 3 รายการ รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การส่งเสริมสุขภาวะในองค์รวม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ พร้อมทั้งให้มีการนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อควบคุมราคายาในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
“หลังจากการประชุมในวันนี้แล้ว สช.จะนำมติทั้ง 3 ประการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามหน้าที่และอำนาจของ คสช. ในการให้ข้อเสนอแนะและคำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป” นายแพทย์อำพลกล่าว
ด้านนางศิรินา ปวโรฬารวิทยา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการนักธุรกิจสตรีหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “ถ้าเราได้สื่อสารเหตุผลดังกล่าวอย่างชัดเจน ไม่เชื่อว่าจะมีนักธุรกิจใดต่อต้านการทำ CL เพราะถือเป็นเรื่องเล็กมากเมื่อเทียบกับประโยชน์และความสุขของประชาชนคนไทยที่จะได้รับการเข้าถึงยา”
นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า “ไม่มีประเทศใดประกาศที่จะสละสิทธิ์การใช้สิทธิบัตร ตรงกันข้ามประเทศพัฒนาแล้วประกาศใช้สิทธิบัตรมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ผมเห็นว่าเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบได้เข้าใจถูกต้องแล้ว คสช.ควรสนับสนุนเพื่อยืนยันความเข้าใจที่ถูกต้องนี้ ”
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการ คสช. ได้ศึกษานโยบายการประกาศการทำ CL พบว่ามีการนำเอาประเด็นเรื่องการประกาศใช้สิทธิไปผูกโยงกับเรื่องที่ประเทศไทยต้องเสียประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยถูกจัดเข้าไปอยู่ในประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษและถูกระงับใช้สิทธิพิเศษศุลกากร ซึ่งความเป็นจริงแล้ว เหตุผลสำคัญที่ไทยถูกจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องเทปผีซีดีเถื่อนและสินค้าปลอมเป็นจำนวนมาก โดยประเทศไทยยังไม่มีมาตรการในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องดังกล่าวอย่างเห็นผล ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องมีมาตรการในการปราบปรามอย่างจริงจัง ส่วนการโดยระงับสิทธิพิเศษศุลกากรของสินค้า 3 รายการนั้น เป็นเพราะมูลค่าการส่งออกของสินค้าเหล่านั้นเกินระดับเพดานที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการประกาศใช้สิทธินี้แต่อย่างใด และเมื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากการที่ประเทศไทยโดยระงับสิทธิพิเศษศุลกากรแล้ว ข้อมูล ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนต่อมูลค่าของการส่งออกของสินค้าส่งออกที่โดนระงับสิทธิ
นอกจากนี้การประกาศสิทธิบัตรไม่ใช่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่เป็นการประกาศใช้สิทธิที่สอดคล้องตามกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ ทั้งข้อตกลงทริปส์ภายใต้องค์การการค้าโลก (TRIPs Agreement) คำปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์ และสาธารณสุข (Doha Declaration) และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.(ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2542 ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเหตุผลที่แท้จริงในการประกาศใช้สิทธิโดยรัฐต่อยา 7 รายการ ได้แก่ ยาต้านไวรัส HIV/AIDS 2 รายการ ยาต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด 1 รายการ และยารักษามะเร็ง 4 รายการ