กรมวิชาการเกษตร ตอกย้ำความพร้อมเป็นผู้นำจัดประชุมหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยเป็นการประชุมผู้บริหารระดับสูงของเขตเศรษฐกิจที่มีบทบาทกำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร หวังแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ทางการเกษตร เสริมสร้างความสามารถผลิตสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อความยั่งยืน
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในปี พ.ศ. 2565 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดประชุมหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและการเกษตร ลดผลกระทบต่อภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ผ่านการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กระตุ้นให้เกิดการรับรู้และสร้างความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจ
กรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ (สทช.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเตรียมจัดประชุมหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ซึ่งเป็นการประชุมผู้บริหารระดับสูงของเขตเศรษฐกิจมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร การแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ทางการเกษตร เสริมสร้างความสามารถและศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ การควบคุมกำกับดูแลสินค้าเกษตรบนพื้นฐานหลักการด้านวิทยาศาสตร์ กระตุ้นให้เขตเศรษฐกิจมีการจัดการนโยบายสาธารณะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนจัดการระบบกำกับดูแลให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและปกป้องสภาพแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดย สทช. ได้ประชุมเตรียมพร้อมในการจัดประชุมและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
กิจกรรมแรกภายใต้กรอบ HLPDAB เป็นจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565 ร่วมกับกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) และสถาบันระบบเกษตรและอาหาร สหรัฐอเมริกา (AFSI) ภายใต้โครงการ Agricultural Biotechnology Seminar Series เรื่อง Genetic Engineering and Genome Editing in Agriculture, Application and Challenges โดยเขตเศรษฐกิจเอเปคจะได้ติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพในภาคการเกษตร ที่เป็นประโยชน์และความท้าทาย โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตรร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง Agricultural Biotechnology Perspective Towards BCG model นำเสนอแนวคิดมุมมองของเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG model) ด้านอาหารและการเกษตร
ทั้งนี้ เอเปค (APEC) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค เป็นการรวมตัวระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคและเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจที่ประเทศสมาชิกสนใจ ดำเนินงานโดยยึดหลักฉันทามติความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2532 (ค.ศ. 1989) ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย โดยประเทศไทยอยู่ในสมาชิกแรกเริ่มของเอเปคตั้งแต่ต้น การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2532 (ค.ศ.1989) ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพและจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ สำหรับประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกในปี 2546 และปี 2565 เขตเศรษฐกิจไทยได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมอีกครั้ง