เครือซีพีเดินหน้าฟื้นป่าเหนือ 4 ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ต่อเนื่องสู่ปีที่ 6 ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อม สร้างอาชีพด้วยโมเดล Social Enterprise มุ่งสู่ชุมชนที่ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday April 22, 2022 16:15 —ThaiPR.net

เครือซีพีเดินหน้าฟื้นป่าเหนือ 4 ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ต่อเนื่องสู่ปีที่ 6 ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อม สร้างอาชีพด้วยโมเดล Social Enterprise มุ่งสู่ชุมชนที่ยั่งยืน

เครือเจริญโภคภัณฑ์เดินหน้าฟื้นฟูป่าและสภาพแวดล้อม สร้างอาชีพ และพัฒนาคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ 4 ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชนกว่า 50 หน่วยงาน โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบันได้ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 787,303 ต้น อีกทั้งยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกลับสู่ชุมชนมากกว่า 3,150,911 บาท

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กล่าวว่า จากปี 2558 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซึ่งเป็นประธานด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในขณะนั้น ได้รับมอบหมายจากท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ให้ดูแลเรื่องความยั่งยืนจากนโยบายสู่ภาคการปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคเหนือนั้น ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี เครือฯ ได้ให้ความสำคัญด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ และในวาระครบรอบ 100 ปี เครือยังคงมุ่งมั่นร้อยเรียงความดี โดยยึดมั่นหลัก 3 ประโยชน์ของเครือฯ คือ ทำเพื่อประเทศชาติ ชุมชนและสังคมก่อน สุดท้ายจึงเป็นบริษัท พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน สร้างเสริมสิ่งใหม่ สนับสนุนต่อยอดความคิด โดยมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามอย่างสม่ำเสมอ ทำงานด้วยความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาอย่างตรงจุด เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

โดยเครือฯ เริ่มนำร่องด้านความยั่งยืนด้วย 'โครงการสบขุ่นโมเดล' บ้านสบขุ่น อ.ท่าวังผา จ.น่าน ต้นแบบฟื้นป่าภาคเหนือที่นำร่องสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ในการปรับเปลี่ยนวิถีจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสู่การปลูกกาแฟสร้างป่า สร้างรายได้ ด้วยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จังหวัดน่าน (กอ.รมน.น่าน) , สำนักงานป่าไม้จังหวัดน่าน , สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงบ้านสบขุ่น ตามแนวทางพระราชดำริฯ , สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.ท่าวังผา และ พัฒนาที่ดิน จ.น่าน โดยมีเกษตรเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 6 รุ่น 97 ราย ปัจจุบันสามารถฟื้นฟูผืนป่ากลับมาได้กว่า 2,100 ไร่ เกิดโรงแปรรูปกาแฟ วิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้แก่บ้านสบขุ่น และมีแบรนด์กาแฟบ้านสบขุ่น กาแฟคืนป่า คืนชีวิต ที่จัดจำหน่ายทั้งออนไลน์และหน้าร้าน ภายใต้การเรียนรู้การจัดการอย่างเป็นระบบมุ่งสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) และผลักดันสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต

นอกจากนี้เครือฯ ยังให้ความสำคัญด้านการลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร สนับสนุนการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนใน 'โครงการปุ๋ยอินทรีย์บ้านดอนไชยป่าแขม' ต.ออย อ.ปง .พะเยา ด้วยแนวคิดการลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยและหันมากำจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรแบบระบบหมุนเวียน โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลออย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และอำเภอปง ผลักดันและถ่ายทอดองค์ความรู้จนเกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และสินค้าปุ๋ยชุมชน 'ฮักษ์น้ำยม' ซึ่งสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้แล้วกว่า 54,875 กิโลกรัม

อีกส่วนหนึ่งแห่งความภูมิใจของเครือฯ และชุมชน คือ 'โครงการจัดการป่าอเนกประโยชน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา บ้านกองกาย' ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ด้วยการผนึกกำลัง 4 ประสาน ชูกลยุทธ์กาแฟฟื้นป่า พร้อมผสมผสานองค์ความรู้ และวิถีชีวิตของชุมชนได้อย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ, มูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม, มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) โดยเริ่มได้ผลผลิตกาแฟคุณภาพแล้วเป็นครั้งแรกในปี 2564 จนปัจจุบันมีผลผลิตรวม 7,604 กิโลกรัม

เครือฯ ยังคงมุ่งมั่นผลักดันธุรกิจชุมชนสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น 'วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านเลาสู' อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง จากชาวบ้านเมี่ยนและอาข่าที่ปลูกกาแฟเป็นทุนเดิม สู่การพัฒนาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง พร้อมใจขับเคลื่อนปลูกกาแฟเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเครือฯร่วมกับภาคเครือข่าย อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลปงดอน, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ธกส. ผลักดันบ้านเลาสูสู่ความสำเร็จ สามารถจัดตั้งโรงแปรรูปกาแฟภายในชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง มอบองค์ความรู้วิชาการบริหารจัดการแปลงเกษตร นอกจากนี้ยังมีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อรักษาทรัพยากรที่มีค่า ที่มาของสินค้าชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟบ้านเลาสู ที่สามารถผลิตกาแฟได้กว่า 53,481 กิโลกรัม

การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคการศึกษา ฯลฯ เครือซีพีจึงได้ก่อตั้ง สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ขึ้น ณ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน เพื่อร่วมสร้างสรรค์คุณค่า สู่การพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างสมดุลให้เมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยกว่า 2 ปี ที่ดำเนินการได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเป็นอย่างดี อาทิ จังหวัดน่าน , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , สำนักงานพาณิชย์จังหวัดน่าน ,สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง , หอการค้าจังหวัดน่าน , น้ำพางโมเดล, มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ , ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ และ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอีกกว่า 15 อำเภอ ร่วมสร้างสรรค์หลักสูตรการฝึกอบรมทั้งหมด 40 หลักสูตร ครอบคลุมกลุ่มทั้งเด็กและเยาวชน เกษตรกร ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และผู้นำที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง มีจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด 988 คน อีกทั้งยังมีการส่งเสริมธุรกิจเกษตรไปจนถึงวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตรวมกว่า 1,033 ราย และมีการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งด้านบรรเทาสาธารณภัย และด้านการศึกษาไปแล้วกว่า 25,000 ราย นอกจากนี้ยังจัดโครงการอื่น ๆ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เยาวชน รวมถึงบุคคลทั่วไป อาทิ นิทรรศการ หลักสูตรฝึกอบรม การจัดสัมมนา ฯลฯ รวมกว่า 8,126 ราย พร้อมตั้งเป้าขยายผลลัพธ์ให้เข้าถึงชาวบ้านได้มากยิ่งขึ้นในปีนี้

เครือฯ เล็งเห็นความสำคัญด้านความยั่งยืน และการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในทุกมิติ จึงได้รับการรับรองจากโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือ LESS (Low Emission Support Scheme) ในพื้นที่บ้านสบขุ่น บ้านทุ่งใหม่และบ้านนาบง จ.น่าน โดยสามารถกักเก็บคาร์บอนไดไซด์ได้รวมกว่า 7,999.103 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) พร้อมผลักดันเข้าสู่โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย Thailand Voluntary Emission Reduction (T- VER) มุ่งสู่เป้าหมายองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2573


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ