ทางการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศเพิ่มเติม เพื่อหนุนการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ล่าสุดการประชุมของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบยกเลิกการตรวจ RT-PCR สำหรับผู้เดินทางเข้าไทยที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ รวมถึงปรับลดวงเงินประกันสำหรับผู้เดินทางเป็น 10,000 ดอลลาร์ฯ (จาก 20,000 ดอลลาร์ฯ) นอกจากนี้ ศบค. ยังเห็นชอบปรับระดับพื้นที่ตามสถานการณ์การระบาด เหลือเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง(สีเหลือง) 65 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 12 จังหวัด โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้
แม้ภาคท่องเที่ยวจะมีสัญญาณเชิงบวกจากการยกเลิกระบบ Test & Go และผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกและให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่หลายๆประเทศทั้งในยุโรปและเอเชียได้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น และล่าสุดสหรัฐฯ ได้ปรับไทยออกจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดจากการระบาดของโควิด-19 หรือระดับ 4 (เตือนให้หลีกเลี่ยง) มาอยู่ในระดับ 3 ซึ่งแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนเดินทางเท่านั้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้นักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ที่เดินทางมาไทยมีจำนวนสูงสุดเป็นอันดับ 5 รองจากรัสเซีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 วิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 5.5 ล้านคน เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปียังเผชิญกับแรงกดดันจาก (i) สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักท่องเที่ยวรัสเซีย และการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวเข้าไทยของนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป รวมทั้งอาจส่งผลให้เกิดวิกฤตราคาพลังงานกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลง (ii) นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตลาดหลัก ยังมีแนวโน้มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาด และ (iii) การแข่งขันที่เข้มข้นเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศคู่แข่งขันสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกใต้
พื้นที่ทางการคลังที่เหลืออยู่ 1.3 ล้านล้านบาท คลังชี้ยังไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม ขณะที่รัฐบาลเตรียมเปิดเวทีระดมความเห็นเพื่อกำหนดเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ รมว.คลัง เผยว่าได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงพิจารณาว่ายังมีความจำเป็นอีกหรือไม่ในการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากจำเป็นให้พิจารณาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการกู้เงิน เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว มีการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น จึงควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจ
ปัจจุบันการใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท และงบกลางเหลืออยู่ 6 หมื่นล้านบาท (กันไว้ใช้สำหรับภัยพิบัติ 3-4 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประเมินว่าหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เพิ่ม จะยังสามารถมีพื้นที่ทางการคลังกู้เงินเพิ่มได้อีกประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ถึงจะเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่ขยายกรอบจาก 60% เป็น 70% ต่อ GDP (ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 60.17% ของ GDP) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลระบุเตรียมเปิดเวทีสาธารณะในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกระดับและทุกภาคส่วน เพื่อนำข้อเสนอต่างๆ มาจัดทำเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งจากการระบาดของ COVID-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน