ครั้งแรก! นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Digital Arts NFT : RedCross x KX

ข่าวทั่วไป Tuesday April 26, 2022 15:52 —ThaiPR.net

ครั้งแรก! นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Digital Arts NFT : RedCross x KX

สภากาชาดไทย ร่วมกับ บริษัท กสิกร เอกซ์ จำกัด (KASIKORN X : KX) เปิดตัวการจัดงาน "นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Digital Arts NFT : RedCross x KX" ครั้งแรกกับปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์วงการศิลปะไทยที่นำผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำมาจัดแสดงในรูปแบบดิจิทัล (Non Fungible Token: NFT) บน Coral Platform ของ KX โดยเงินรายได้สมทบทุนโครงการ "เงินทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย" พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจชมศิลปะอันทรงคุณค่าที่จัดแสดงทั้งในรูปแบบนิทรรศการและบน NFT Innovation Wall ได้ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ณ บริเวณ ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ICONSIAM และจะเริ่มเปิดจองบน Coral Platform ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และไอคอนสยาม

นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า "การจัดนิทรรศการผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ เป็นโครงการที่สภากาชาดไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเป็นปฐมศิลปินของสภากาชาดไทยพระราชทานผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ให้สภากาชาดไทย โดยสำนักงานจัดหารายได้ นำมาจัดแสดงและรับบริจาคบน Coral Platform ของ KX ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล Non Fungible Token หรือ NFT อีกทั้งการจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ในครั้งนี้ยังเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านงานศิลปะให้เป็นที่ประจักษ์ในรูปแบบศิลปะดิจิทัลอีกด้วย ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลที่ทรงมีพระเมตตา มีความห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทยในการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูเมื่อเกิดภัยพิบัติ ทั้งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล และภัยจากโรคอุบัติใหม่ ที่คุกคามสุขอนามัยของประชาชน โดยเงินรายได้จากการร่วมบริจาคผ่าน Coral Platform ทรงพระราชทานเป็นปฐมฤกษ์สมทบทุนโครงการ "เงินทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย" เพื่อเตรียมพร้อมรับมือป้องกันบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูเมื่อเกิดภัยพิบัติที่ครอบคลุม ทั้งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามฤดูกาล และโรคอุบัติใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่ไม่อาจคาดการณ์ได้"

คุณพาสินี ลิ่มอติบูลย์ กรรมการสภากาชาดไทย และประธานกรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด เล่าถึงผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ว่า "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ส่วนพระองค์ให้กับสภากาชาดไทย จำนวน 32 ภาพ เป็นภาพสีน้ำมัน สีน้ำ สีเทียน สีโปสเตอร์ และภาพพิมพ์หิน ซึ่งแต่ละภาพมีการบันทึกเรื่องราวที่พระองค์ท่านบันทึกไว้ในหนังสือ อาทิ ภาพต้นหางนกยูง และภาพแจกันสีม่วง เป็นภาพเก่าที่สุด ทรงวาดเมื่อปี พ.ศ. 2506 ขณะที่พระชนมายุ 8 พรรษา ทรงพระอักษรชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ต้นหางนกยูงที่ทรงวาดนั้นดูแบบจากต้นซึ่งอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา ส่วนภาพแจกันสีม่วง ทรงได้แรงบันดาลใจจากสมเด็จ พระบรมชนกนาถ ทรงทอดพระเนตรเห็นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวาดภาพสีน้ำมัน ก็ทรงอยากวาดบ้าง และขอพระราชทานสีเหลือ ๆ มาวาดได้ผลงานเป็นภาพแจกันสีม่วงปักดอกไม้สีเหลือง ทรงเล่าพระราชทานว่า ระหว่างที่ทรงวาดภาพนั้นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ทรงสอนเรื่องสีเรื่องแสงเงาบ้าง เช่น แสงเข้าทางนี้ เงาจะเป็นอย่างนี้ นอกจากนั้น ยังมีภาพที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคน อาทิ ภาพชาวนา ภาพกรรมกรเหมืองแร่ รวมถึงภาพที่ทรงได้แรงบันดาลใจจากบทกวีหรือในหนังสือต่าง ๆ ภาพวัดพระแก้ว ที่บันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนพระองค์เมื่อพ.ศ. 2527 ทรงบันทึกไว้ว่า "เดินไปวัดพระแก้ว (ตอนนั้นเสด็จประทับแรม ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง เพราะกำลังซ่อมพระตำหนักจิตรลดา) หาที่เหมาะ ๆ เขียนรูป ได้ที่ใกล้ ๆ วิหารยอดหอพระนาค วาดหอพระนาค พระอุโบสถ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป วาดอยู่ประมาณชั่วโมงครึ่ง อาจารย์นิออน (สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) กับพวกมาติดพลอย (บุษบกที่หอพระนาค) เลยช่วยเขาติดพลอย จนสิบเอ็ดโมง" ทรงเล่าขยายความว่า "เสด็จไปเขียนภาพแต่เช้า พอสายมีคนมาไหว้พระ ก็ทรงรู้สึกเกรงใจ เพราะอยู่ๆ มานั่งเกะกะ เขาไม่ได้มามุง เรานั่งอยู่ตรงระเบียง แทนที่เขาจะเดินมาดูรูปรามเกียรติ์ได้ เขาก็ต้องหลบเรา" จึงทรงเลิกวาด เป็นต้น

โดยผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ทั้ง 32 ภาพ แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านงานศิลปะผนวกกับทรงเป็นนักเล่าเรื่องผ่านการจดบันทึก โดยผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ส่วนพระองค์จะนำมาแปลงให้เป็น Digital File บน Coral Platform ของ KX เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสได้ชมพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างและเชื่อมโยงโลกศิลปะเข้าสู่โลกดิจิทัลได้อย่างไร้ขอบเขต"

ภายในงานเปิดตัว "นิทรรศการศิลปะดิจิทัลเพื่อสภากาชาดไทย ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Digital Arts NFT : RedCross x KX" ได้รับเกียรติจากแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานทั้งจากแวดวงศิลปะ นักสะสมผลงานศิลปะ และหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), คุณเกตุวลี นภาทรัพย์ กรรมการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด, คุณจันทร์ประภา วิชิตชลชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย, คุณธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Head of Venture Builder, KASIKORN X (KX), คุณนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), คุณพิรดา อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิเทค วัน จำกัด, คุณสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด, ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี ผู้ร่วมก่อตั้ง ภัณฑารักษ์ และครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ Thailand Digital Arts Festival

สำหรับนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ณ ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ICONSIAM ในวันธรรมดาเปิดให้เข้าชม เวลา 11.00-20.00 น. วันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 10.00-20.00 น. จากนั้นจะนำผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ฯ ขึ้นบนเว็บไซต์ coralworld.co เพื่อจัดแสดงและขอรับการสนับสนุนเงินบริจาคต่อไป ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 0 2256 4440, 0 2255 9911


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ