กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--IANDI COMUNICATION
สกว.เตรียมเปิดเวที “หนี้สินจากการศึกษา” หลังผลวิจัยชี้ชัด การศึกษาของบุตรคือภาระหนักของผู้ปกครอง ดึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมถกแสดงความคิดเห็น เพื่อหาทางออกที่เป็นรูปธรรม
ดร.สมคิด แก้วทิพย์ หัวหน้าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เปิดเผยว่า จากการที่นักวิจัยท้องถิ่นแต่ละภูมิภาคได้ดำเนินการวิจัยในประเด็นการจัดการหนี้สิน กว่า 40 โครงการในช่วงที่ผ่านมานั้น ต่างก็พบว่าเกือบทุกหมวดหมู่สามารถภาระค่าใช้จ่ายได้ เช่น หมวดอาหาร มีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเอง ไม่บริโภคแบบเหลือทิ้งเหลือขว้าง หมวดสังคม มีการจัดกิจกรรมลดเหล้าในงานศพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย มีการจดบันทึกบัญชีครัวเรือน เพื่อให้เห็นผลเปรียบเทียบในแต่ละวันแต่ละเดือนว่ารายจ่ายหมวดใดสูงเกินความจำเป็น และสามารถลดได้หรือไม่ ส่งผลให้ชาวบ้านมีเงินเหลือเก็บออมมากขึ้น
“แต่ในหมวดการศึกษา เป็นภาระที่ชุมชนวิจัยไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการได้ เพราะเงื่อนไขมาจากปัจจัยภายนอก นั่นคือโรงเรียนเป็นผู้กำหนดผ่านสมาคมผู้ปกครอง หรือตัวนักเรียนเอง เช่น ชุดพื้นเมือง กระเป๋า ชุดนักเรียน ค่าบำรุงคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งผู้ปกครองเล็งเห็นว่าบางอย่างจ่ายเกินราคา เด็กได้ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป แต่ไม่อาจต่อรอง หรือหลีกเลี่ยงได้ ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบถึงลูกหลานที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่” ดร.สมคิด กล่าวและว่า
ด้วยเหตุนี้ ทาง สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงได้ร่วมกับนักวิจัยท้องถิ่น จัดเวทีเสวนา เรื่อง “การศึกษากับการจัดการหนี้สิน ทางออกหรือทางตันของชาวบ้าน” ขึ้น ที่ข่วงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในวันที่ 18 มีนาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 08.30-12.30 น. เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน พร้อมรับฟังการนำเสนอประสบการณ์ของชุมชนต่างๆ ในประเด็นการจัดการหนี้สิน
ภายในงาน จะมีนักวิจัยท้องถิ่นหลายภาคเข้าร่วม อาทิ นายชาญ อุทธิยะ ผู้ประสานงานสถาบันแสนผะหญา จ.ลำปาง, นายจิตสมาน วารีขันธ์ นักวิจัยโครงการศึกษาสถานการณ์หนี้สินของชุมชนกุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์, นายสง่า ซาเสียง นักวิจัยโครงการการศึกษาสถานการณ์ปัญหาและภาวะหนี้สินของชุมชนบ้านหนองอ้อ จ.ราชบุรี, ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง ดร.สมคิด ในฐานะตัวแทน สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยมีนายประพจน์ ภู่ทองคำ เป็นผู้ดำเนินรายการ
หัวหน้าสำนักงาน สกว. ยังได้กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมงานตามวันและเวลาดังกล่าว เพื่อระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำไปสู่ทางออก หรือแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น