สุดยอด! สารสกัดทุเรียนอ่อนระยะตัดแต่งผล ต้านอนุมูลอิสระ ทีมวิจัยจุฬาฯ เล็งผลิตเครื่องสำอาง สร้างมูลค่าของเหลือการเกษตร

ข่าวทั่วไป Thursday April 28, 2022 10:26 —ThaiPR.net

สุดยอด! สารสกัดทุเรียนอ่อนระยะตัดแต่งผล ต้านอนุมูลอิสระ  ทีมวิจัยจุฬาฯ เล็งผลิตเครื่องสำอาง สร้างมูลค่าของเหลือการเกษตร

ทีมวิจัยคณะวิทย์ฯ จุฬาฯ ค้นพบสารสกัดในทุเรียนอ่อนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงเทียบเท่าวิตามินซี เพิ่มความชุ่มชื่นและปกป้องผิวจากรังสียูวี เล็งผลิตเครื่องสำอาง ช่วยเกษตรกรเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ทางการเกษตร

ทุเรียนเป็นราชาแห่งผลไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ในแต่ละปีประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศและเกษตรกร แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่ายังมีผลทุเรียนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าใดๆ

"ชาวสวนต้องตัดผลทุเรียนอ่อนทิ้งโดยเฉลี่ยแล้วราว 200-300 ผลต่อหนึ่งต้น เนื่องจากทุเรียนหนึ่งต้นจะออกดอกจำนวนมาก ถ้าทุกดอกกลายเป็นผลทั้งหมด ต้นทุเรียนจะรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้กิ่งหักได้ ชาวสวนจึงต้องเลือกผลที่จะเจริญเติบโตได้จริงและมีรูปร่างสวยงาม เพื่อจะได้ขายได้ราคาดี" รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงที่มาของโจทย์การวิจัยสารสกัดจากทุเรียนอ่อนสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพตามนโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy)

"ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนหลายแสนไร่ ผลผลิตที่ออกมาในแต่ละปีมีจำนวนมาก แต่วัตถุดิบที่เป็นของเหลือใช้ทางการเกษตรที่สูญเปล่าไม่มีคนสนใจและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน เราจึงคิดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทุเรียนอ่อนในสวนโดยหาส่วนประกอบทางชีวภาพในทุเรียนอ่อนว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอะไรได้บ้าง"

สารสำคัญในทุเรียนอ่อน

รศ.ดร.ศุภอรรจ อธิบายว่าทุเรียนอ่อนคือผลของทุเรียน (Durio zibethinus L.) ระยะตัดแต่งผลที่ยังไม่มีการเจริญของเนื้อผลที่สมบูรณ์ และยังไม่มีการสร้างกลิ่นของสารระเหย ที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียน ผลทุเรียนอ่อนมีความยาว 6-12 เซนติเมตร และมีเมือกใสคล้ายเมือกหอยทากอยู่ภายในเมื่อนำไปแช่น้ำ

"ทีมวิจัยของเรานำผลทุเรียนอ่อนไปวิเคราะห์เมแทโบโลม (เมแทบอไลต์ทั้งหมด) เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพควบคู่ไปด้วย จึงพบสารกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูงมาก และพบสารประกอบฟีนอลิก (Phenolics) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ด้านไกลเคชัน (Glycation) คือการเติมน้ำตาลเข้าไปที่โปรตีน สอดคล้องกับความชราของเซลล์ รวมไปถึงความสามารถในการป้องกันผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลต นอกจากนี้ ยังพบเพคติน (Pectin) ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง"

รศ.ดร.ศุภอรรจ กล่าวว่าสารต่างๆ ที่พบในทุเรียนอ่อนเป็นสารที่พบได้ในพืชและผลไม้หลายชนิด อาทิ เมล็ดองุ่น โกโก้ ฯลฯ แต่ชนิดและปริมาณของสารสำคัญที่พบในพืชแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ซึ่งปริมาณของสารสำคัญในทุเรียนก่อนสามารถเทียบเคียงกับพืชชนิดอื่นๆ ได้

สารสกัดทุเรียนอ่อน ดีต่อผิวและผม ปลอดกลิ่น ปลอดภัย

นางสาวพุทธมาศ ผิวล่อง นิสิตปริญญาโทภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัย อธิบายว่าการสกัดสารจากทุเรียนอ่อนที่มี Biomarker เป็นการกำหนดฤทธิ์ทางชีวภาพ เป็นกระบวนการสกัดที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีการใช้ตัวทำละลายที่เป็นพิษที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้ความร้อนในการสกัด เพื่อลดพลังงาน ขั้นตอนและค่าใช้จ่าย ซึ่งกรรมวิธีการสกัดนี้จะทำให้ได้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและแพคตินในปริมาณค่อนข้างสูง

"เมื่อได้สารสกัดจากทุเรียนอ่อนแล้ว เราจึงนำมาทดสอบกับเซลล์ผิวหนังโดยนำเซลล์มาแบ่งและบ่มกับสารสกัดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นเติมตัวที่ทำให้เซลล์เกิดภาวะเครียดเข้าไป ให้คล้ายกับเราเดินไปเจอฝุ่น เจอแสงแดด ผลพบว่าเซลล์ที่มีสารสกัดทุเรียนอ่อนอยู่ในปริมาณมาก จำนวนเซลล์ที่มีชีวิตจะมีอยู่จำนวนมากเช่นกัน หมายความว่าเมื่อเราทาครีมก่อนไปเจอมลภาวะ จะรักษาปกป้องเซลล์มากกว่าไม่ทาอะไรเลย และเมื่อเราลองทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดทุเรียนอ่อน เปรียบเทียบกับวิตามินซี ก็พบว่าสารสกัดจากทุเรียนอ่อนมีศักยภาพเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าวิตามินซี เนื่องจากสารสกัดทุเรียนอ่อนมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณมาก"

นอกจากประสิทธิภาพแล้ว ทีมวิจัยได้ทดสอบความเป็นพิษกับผิวหนัง พบว่าสารสกัดจากทุเรียนอ่อนมีฤทธิ์เชิงบวก ไม่พบความเป็นพิษ โอกาสก่อให้เกิดการแพ้ต่ำ จึงมีความปลอดภัยสูง มีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางได้เป็นอย่างดี

"เราได้ลองนำครีมกันแดดตามท้องตลาดมาผสมกับสารสกัดในรูปแบบผงสารสกัด ในปริมาณ 2-3% ตามมาตรฐานที่ อย.กำหนด พบว่า เนื้อครีมกันแดดให้เนื้อสัมผัสเหมือนเดิม ผงสารสกัดที่มีสีเหลืองจางๆ เมื่อใส่ในผลิตภัณฑ์แล้วแทบจะไม่เห็นความแตกต่างของสี ที่สำคัญคือสารสกัดจากทุเรียนอ่อนไม่มีกลิ่น จึงไม่รบกวนกลิ่นของครีมกันแดด"

นอกจากนี้แล้ว ทีมวิจัยยังพบว่าสารสกัดทุเรียนอ่อนยังมีฤทธิ์ในการเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์รากผมอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายต่อไปได้

ทุเรียนอ่อน ผลผลิตสร้างมูลค่าในอนาคต

แม้แรกเริ่ม ทีมวิจัยจะวิจัยสกัดสารสำคัญจากทุเรียนอ่อนพันธุ์หมอนทอง แต่ภายหลังก็ได้ทดสอบสกัดสารสำคัญจากทุเรียนอ่อนพันธุ์อื่นๆ ด้วย ซึ่งพบว่าไม่ว่าจะสายพันธุ์ใด ทุเรียนอ่อนก็ให้สารสำคัญที่ไม่ต่างกัน

"ในอนาคต เมื่องานวิจัยก้าวไปถึงขั้นการผลิตเชิงพาณิชย์ เราเชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ชาวสวนไม่ต้องตัดทุเรียนอ่อนทิ้ง แต่ตัดส่งมาผลิตเป็นสารสกัดในเครื่องสำอาง"

รศ.ดร.ศุภอรรจ กล่าวทิ้งท้ายว่าประเทศไทยมีทรัพยากรจำนวนมาก โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผลไม้ ซึ่งน่าสนใจและควรได้รับการสนับสนุนการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแปรรูปสินค้า การนำวัตถุดิบเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าไปจนถึงการพัฒนานวัตกรรม

สุดท้ายทางทีมวิจัยขอขอบคุณผู้ร่วมงานวิจัยท่านอื่นๆ ที่มีส่วนร่วม รศ.ดร.มัญชุมาส เพราะสุนทร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.วริษา พงศ์เรขนานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.นพ.ณัฐ ตันศรีสวัสดิ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.อัจฉรา แพมณี จากศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช.

ผู้สนใจสารสกัดจากทุเรียนอ่อนสำหรับใช้ในเครื่องสำอาง สามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ Email : supaart.s@chula.ac.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ