กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--วว.
วันนี้ (17 มีนาคม 2551) นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนา โดยมี ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. คณะผู้บริหารระดับสูงและพนักงาน ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ รมว.วท. ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการศูนย์จุลินทรีย์ แหล่งกลางในการรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์นอกถิ่นเนิด หน่วยบริการด้านจุลินทรีย์แห่งเดียวในประเทศไทยที่จัดตั้งโดย UNESCO และทำหน้าที่เป็นศูนย์ฯ ระดับภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ และเป็นศูนย์เครือข่ายระดับโลก รวมทั้งได้ชมห้องปฏิบัติการของฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสมุนไพรไทย เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง เครื่องหอม รวมทั้งยังมีศักยภาพในการให้บริการงานวิจัย วิเคราะห์ ทดสอบ พร้อมออกใบรับรองแก่ภาครัฐและเอกชนอีกด้วย
ในการนี้ วว. ได้จัดแสดงศักยภาพในผลงานวิจัยและพัฒนาโดยฝีมือนักวิจัยไทยซึ่งมีศักยภาพทัดเทียมกับผลงานต่างประเทศ ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน อันได้แก่
- งานสนับสนุนโครงการหลวง ได้แก่ เทคโนโลยีเพาะเห็ดเมืองหนาว อาทิ เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง เห็ดนางรมหลวง ฯลฯ และการวิจัยและพัฒนาวิธีการปลูกและบ่มวานิลลา
- งานวิจัยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ดังนี้
* งานวิจัยด้านอาหาร อาทิ ผลิตภัณฑ์จากปลายข้าว ผลิตภัณฑ์มะนาวครบวงจร ผลิตภัณฑ์สาหร่ายมุกหยก เป็นต้น
* งานวิจัยด้านสุขภาพ อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร/น้ำมันหอมระเหย โพรไบโอติกมนุษย์/สัตว์ปีก เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
* งานวิจัยด้านพลังงาน ที่เน้นด้านพลังงานชีวมวล อาทิ เอทานอล ไบโอดีเซล
* งานบริการเพื่อภาคอุตสาหกรรม ทั้งการทดสอบ วิเคราะห์ สอบเทียบ เครื่องมืออุปกรณ์ งานบริการทดสอบทางด้านโลหะวัสดุ งานบริการด้านบรรจุภัณฑ์ งานบริการรับรองระบบคุณภาพ
* งานวิจัยที่สนับสนุนโครงการ OTOP โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) รวมทั้งยังได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อีกด้วย
- การจัดแสดงพืชชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ มหาพรหมราชินี จำปีสิรินธร พร้อมกับเปิดตัว “จำปีช้าง” ...พืชชนิดใหม่ของโลก ซึ่งเมื่อปี 2541 ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่นและคณะ ได้ออกสำรวจในบริเวณพื้นที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พบ “จำปีช้าง” ทั้งนี้จากการส่งตัวอย่างแห้งที่ครบสมบูรณ์หมดทุกส่วนอย่างละเอียดไปตรวจสอบที่หอพรรณไม้ไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และหอพรรณไม้ประเทศจีน ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารจำแนกพรรณไม้นานาชาติ BLUMEA ของหอพรรณไม้ไลเดน แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ขณะนี้ วว.ประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์ “จำปีช้าง” โดยใช้วิธีทาบกิ่งที่ใช้จำปาเป็นต้นตอ ซึ่งต้นกล้าสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ราบ และพร้อมส่งเสริมให้มีปลูกเลี้ยงจำปีช้างเป็นไม้ประดับทั่วประเทศ ช่วยอนุรักษ์พรรณไม้ดังกล่าวให้อยู่คู่กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมีการสาธิตนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เพื่อภาคอุตสาหกรรม ที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เครื่องผนึกสุญญากาศ เครื่องทำแห้งเยือกแข็ง เครื่องล้างผลไม้ เครื่องม้วนทองม้วน ตลอดจนนวัตกรรมเพื่อชุมชนชนบท ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อันได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง การพัฒนาบล็อกประสาน...วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น