ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจสหภาพแรงงานไทย ในโอกาสวันแรงงาน วันที่ 1 พฤษภาคม กรณีศึกษาผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จำนวน 1,260 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-24 เม.ย. 2565 แรงงานในปีนี้ คือ มีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยแรงงานไทยมีหนี้ถึง 99% ส่งผลให้ปีนี้มีภาระหนี้ของครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 217,952.59 บาท ซึ่งขยายตัวทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี
ทั้งนี้ ในปีนี้แรงงานมีความตั้งใจว่าจะใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่หาได้ ในสัดส่วนที่สูงถึง 42.7% ในส่วนของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จากการสำรวจพบว่าแรงงานอยากให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้มีความสอดคล้องกับค่าครองชีพ ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 4-5% ขณะเดียวกัน การปรับค่าแรงขั้นต่ำก็ควรเป็นไปตามไตรภาคีในแต่ละจังหวัด ซึ่งเมื่อค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น แรงงานก็จะมีอำนาจซื้อมากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 336 บาท การที่ลูกจ้างจะประท้วงขอขึ้นค่าแรงเป็น 492 บาทนั้น มีการปรับขึ้นถึง 10-20% ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก จะเป็นการเร่งทำให้นายจ้างขาดสภาพคล่องทันที จากราคาต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น ควรยึดตามความสามารถของนายจ้างมากกว่า