การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังแพร่กระจายเป็นวงกว้าง สำหรับการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก นอกจากการดูแลรักษาในช่วงที่มีอาการของการติดเชื้อแล้ว ยังควรเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนตามหลังการติดเชื้อที่เรียกว่า MIS-C ไปอีก 2-6 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบไม่มาก แต่อาจมีความรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาใน ICU หรือเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาล่าช้า
MIS-C หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children คือ กลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก ซึ่งเกิดหลังการติดเชื้อโควิด มีอาการคล้ายกับโรคคาวาซากิได้ เช่น ไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง เป็นต้น ร่วมกับมีอาการของการอักเสบของอวัยวะระบบอื่นๆ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปวดศีรษะ ชัก เกร็ดเลือดต่ำ ไตวาย โดยจะคิดถึงภาวะนี้ในเด็กที่มีไข้ > 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีการอักเสบของอวัยวะต่างๆ อย่างน้อย 2 ระบบ และมีหลักฐานการติดเชื้อโควิดมาก่อนภายใน 2-6 สัปดาห์
ถ้าลูกมีอาการเหล่านี้ร่วมกับการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนภายใน 2-6 สัปดาห์ควรรีบมาพบแพทย์
- ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
- ผื่นขึ้นตามร่างกาย
- ปากและตาแดง มือเท้าบวมแดง
- ถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
- ไอ หอบเหนื่อย
- ปวดศีรษะ ซึมลง ภาวะชัก
ปัจจุบันการรักษา MIS-C เป็นการรักษาประคับประคองเพื่อลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ยาหลักที่ใช้คือยากลุ่มต้านการอักเสบ เช่น IVIG, Steroid ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 และลดการเกิด MIS-C ได้
ดังนั้นขอให้ผู้ปกครองดูแลสุขภาพเด็กๆ ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงการเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามอายุที่เหมาะสม หากหลังการติดเชื้อโควิด-19 มีภาวะผิดปกติ ดังกล่าวข้างต้นรีบพามาพบแพทย์ เพื่อได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุด
ข้อมูลดีๆ จาก.. พญ.นวลนภา อนันตสิทธิ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ศูนย์แม่และเด็ก โรงพยาบาลหัวเฉียว