วว. ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดสมุทรสงครามด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชตามฤดูกาล ยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว การใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันโรค แมลงศัตรูลิ้นจี่
ศ.(วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ "ลิ้นจี่แม่กลอง...ยังไม่วาย" ซึ่ง วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ จัดขึ้น ภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดสมุทรสงครามด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการผลิตพืชให้ได้รับผลผลิตตามฤดูกาล การยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว และการใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูลิ้นจี่ ทำให้มีการผลิตลิ้นจี่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยมี เกษตรกร ผู้แทนจากสำนักงานเกษตร มหาวิทยาลัย กลุ่มแปลงใหญ่ลิ้นจี่ อำเภออัมพวา อำเภอบางคนที ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เข้าร่วมการอบรมกว่า 100 คน โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นางสมพิส ทองดีนอก เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวต้อนรับ นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวรายงาน ในวันที่ 30 เมษายน 2565 ณ ศาลาวัดบางเกาะเทพศักดิ์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมสู่ภูมิภาค อันจะก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตร ให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่สร้างรายได้ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และเป็นการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศจากสินค้าเกษตรคุณภาพดี และผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมจากวัตถุดิบท้องถิ่น เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศที่เข้มแข็งและยั่งยืน
"...วว. นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีที่นำมาถ่ายทอดในการอบรมครั้งนี้ ได้แก่ การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชบังคับการออกดอกของลิ้นจี่ ซึ่งสามารถทำให้ได้รับผลผลิตตามฤดูกาล ทำให้เพิ่มรายได้ การใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวด้วยการรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่สามารถทำให้ลิ้นจี่มีอายุหลังการเก็บเกี่ยวนานขึ้น มีความสด ใหม่ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้า GI ในต่างจังหวัด ทำให้ราคาเพิ่มมากขึ้น และถ่ายทอดการใช้ชีวภัณฑ์เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูลิ้นจี่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการผลิตลิ้นจี่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ?" ศ.(วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว
นางสมพิส ทองดีนอก เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ลิ้นจี่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูก 1,920 ครัวเรือน รวมพื้นที่ประมาณ 5,196 ไร่ แยกเป็น อ.เมือง 7 ไร่ อ.อัมพวา 2,328 ไร่ และ อ.บางคนที 2,861 ไร่ จากสภาพอากาศช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อากาศหนาวเย็นอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลให้ต้นลิ้นจี่แทงช่อดอกสะพรั่งแทบทุกสวน สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม ได้สำรวจการออกดอกลิ้นจี่พบว่ามีการออกดอกประมาณร้อยละ 55 ของพื้นที่ปลูก หรือ ประมาณ 2,859 ไร่ ทำให้คาดว่าลิ้นจี่จะให้ผลผลิตประมาณ 6,000 ตัน แต่ก็ประสบปัญหาที่คาดไม่ถึงในระยะเวลาต่อมาประมาณปลายเดือนมกราคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ลิ้นจี่ติดผลขนาดเล็กเต็มต้นได้เกิดฝนตกหนักลมกรรโชกแรง ทำให้ผลลิ้นจี่ร่วงเป็นจำนวนมาก จากการออกสำรวจของเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม พบว่ามีผลผลิตลิ้นจี่เหลือเพียงประมาณกว่า 400 ตัน ซึ่งได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วระหว่างวันที่ 20 มีนาคม 2565 จนถึงประมาณกลางเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นการส่งเสริม และแก้ไขปัญหาให้กับผู้ปลูกลิ้นจี่ เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาส่งเสริม และแก้ปัญหาให้ลิ้นจี่ในพื้นที่สมุทรสงครามมีผลผลิตที่ดี สร้างรายได้มากขึ้น เชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี คือเหตุและผลที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่มผู้ปลูกลิ้นจี่ที่เข้าร่วมอบรมในวันนี้จะนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในพื้นที่การเกษตร เพื่อยังคงรักษาเมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ของเราตลอดไป
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวถึงกิจกรรมภายในงานว่าประกอบด้วยการบรรยายเสริมสร้างความรู้ในด้านนวัตกรรมการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวโดยการรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และการขนส่งลิ้นจี่อย่างไรได้ไกลกว่าเดิม และนิทรรศการการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชบังคับการออกดอกของลิ้นจี่ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวด้วยการรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และการใช้ชีวภัณฑ์เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูลิ้นจี่ ซึ่ง วว. มีความเชี่ยวชาญและนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าไปตอบโจทย์แก้ปัญหาให้เกษตรกรต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม
"... วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีเกษตรชุมชน บูรณาการด้านการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้บริการภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างครบวงจร โดยมีพันธกิจเพื่อให้เกิดความเป็นเลิศด้านเกษตรชุมชน ทั้งด้านงานวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการบูรณาการด้านการวิจัยและพัฒนา ตามโจทย์ที่แท้จริงของประเทศ ตามระดับของประเภทงานวิจัยทั้งระบบ ตั้งแต่การวิจัยพื้นฐาน วิจัยประยุกต์ และการพัฒนานวัตกรรม สามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อสนับสนุน การพัฒนาประเทศในทางสังคมและเศรษฐกิจ การทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี สร้างสรรค์งานนวัตกรรมบริการที่ปรึกษาเทคโนโลยีแบบครบวงจร และเป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน..." รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าว
อนึ่ง โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาและยกระดับประเทศให้เป็นประเทศรายได้สูง มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้สามารถมีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันพึ่งพาตนเองได้ ผ่านการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและพฤติกรรม และการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการพัฒนาส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจชุมชน ให้สามารถผลิตสร้างสรรค์นวัตกรรมชุมชน ให้มีความรู้สามารถพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้กับสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า และขยายโอกาสเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันตามเป้าหมาย โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการในเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2565 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรจำนวน 4,200 ราย ดำเนินการในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ชุมพร ปทุมธานี พังงา เพชรบูรณ์ สกลนคร สมุทรสงคราม และอุดรธานี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะนำปรึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : tistr@tistr.or.th Line@TISTR IG : tistr_ig