หัวใจล้มเหลว (Heart Failure) คือภาวะที่หัวใจทำงานได้ไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอ ภาวะนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ นอกจากเกิดจากการทำงานและโครงสร้างของหัวใจที่ผิดปกติแล้ว ยังพบในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ อื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
ความรุนแรงของโรคมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ดังนั้นการสังเกตอาการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้ารู้เร็วเราจะได้ดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากหัวใจวายได้
- ในระยะเริ่มแรกของภาวะหัวใจล้มเหลว จะมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือจะรู้สึกว่าออกแรงได้น้อยลง เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง
- ต่อมาเมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการเหนื่อยแม้กระทั่งทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ หรือแม้แต่กิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้ปกติ ก็กลับรู้สึกเหนื่อยเมื่อต้องทำ
- และระยะที่รุนแรงมากจะพบว่าแค่นั่งอยู่เฉยๆ ก็ยังรู้สึกเหนื่อย นอนราบแล้วไอ แขนขาบวม ซึ่งหากพบเห็นอาการในระยะนี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะเป็นอันตรายมากอาจทำให้หัวใจล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลันได้
อย่างไรก็ตามหากเราสังเกตเห็นอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย หรือเป็นๆ หายๆ ก็อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์โรคหัวใจเพื่อตรวจวินิจฉัย ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่รอช้าไม่ได้ หากรู้เร็วและทำการรักษาแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นและมีโอกาสหายได้
การดูแลสุขภาพร่วมกับการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจจึงเป็นอีกแนวทางสำคัญในการป้องกัน ซึ่งในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่หลอดเลือดหัวใจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบกับสุขภาพในอนาคต จึงควรตรวจสุขภาพหัวใจเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ การพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นประจำหรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ ไม่เครียด ไม่สูบบุหรี่ จะช่วยให้หัวใจแข็งแรงและป้องกันการเสียชีวิตจากโรคหัวใจก่อนวัยอันควรได้ในระยะยาว