นางสาวเสาวลักษณ์ ศุภกมลเสนีย์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานพิธีเปิดการอบรม เรื่อง การใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace On Cloud) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน - ออนไลน์ DGT Farm ให้แก่ผู้ที่มีความประสงค์ใช้งานดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นเกษตรกรรายเดี่ยว กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และผู้ประกอบการ ซึ่งมาจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าส้มโอและมะพร้าว ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) ซึ่งมีเป้าหมายในการปรับปรุงการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพได้มาตรฐานมีความแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ และสามารถตามสอบได้ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค โดยมี นายชนวัฒน์ สิทธิธูรณ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรสงคราม ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมริเวอร์ตัน อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
รองเลขาธิการ มกอช. เปิดเผยว่า มกอช. โดยศูนย์เทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้เริ่มพัฒนาระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ ในกลุ่มผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูป/อาหาร สำหรับผู้ประกอบการ ได้แก่ โรงคัดบรรจุ จุดกระจายสินค้า และร้านอาหาร โดยผู้ประกอบการสามารถจัดเก็บข้อมูลการตามสอบสินค้าเกษตรและบริหารจัดการการผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลตามสอบได้ตลอด ห่วงโซ่การผลิต ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี QR Code มาใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงข้อมูลตามสอบสู่ผู้บริโภค โดยผู้บริโภคสามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เรียกดูข้อมูลแหล่งผลิตสินค้าจาก QR Code ที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์สินค้าได้ในทันที ซึ่งการดำเนินงานระบบตามสอบสินค้าเกษตรจะทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับข้อกำหนดทางการค้า ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถแก้ปัญหาความปลอดภัยอาหารได้รวดเร็วและสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น
ต่อมาได้มีการพัฒนาระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace On Cloud) ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจาก QR Trace ให้ระบบรองรับการใช้งานครอบคลุมทั้งสินค้ากลุ่มพืช ผัก/ผลไม้ กลุ่มสินค้าข้าว สินค้าไข่ สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าแปรรูป/อาหาร และเริ่มสร้างความเข้าใจและผลักดันให้ใช้ระบบ QR Trace on Cloud ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน มีผู้สนใจลงทะเบียนกว่า 2,387 ราย อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สนใจและต้องการนำระบบไปใช้จำนวนมาก เช่น กลุ่มผู้จำหน่าย (Suppliers) ของ Modern Trade เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรที่ผลิตด้วยการทำระบบตามสอบสินค้าเกษตรและสามารถจัดทำ QR Code เพื่อติดบนสินค้าได้ จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ/เกษตรกรในภาคการเกษตรและอาหารของไทยสามารถแข่งขันทางการค้าและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ มกอช. ได้พัฒนาเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน - ออนไลน์ DGT Farm ที่ทำหน้าเป็นสื่อกลางในการจับคู่สินค้าที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องการขาย กับสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อ ให้ตรงตามความต้องการของทั้งสองฝ่าย ซึ่งสามารถช่วยสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ รวมถึงสร้างโอกาสให้แก่ผู้ซื้อที่ต้องการสินค้าดีมีคุณภาพ โดยปัจจุบัน มีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้งานในตลาด DGT Farm จำนวน 4,350 ราย
จากนั้น รองเลขาธิการ มกอช. พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนส้มโอของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ส้มโอ ตำบลโรงหีบ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ที่มีคุณภาพ มีพื้นที่การปลูกประมาณ 200 ไร่ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มได้การรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว จำนวน 34 ราย และได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวนกว่า 20 ราย โดยมีการนำระบบ QR Trace มาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีการขยายช่องทางการตลาดผ่านตลาดสินค้าออนไลน์ DGT Farm.com
"มกอช. มีนโยบายที่จะสร้างความเข้าใจและผลักดันให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ รวมถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจ ให้ใช้ระบบ QR Trace on Cloud และ DGTFarm.com โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการในภาคการเกษตรและอาหารของไทย ให้สามารถแข่งขันทางการค้าและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นระบบที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายเดี่ยว กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่อยู่ในภาคการเกษตรและอาหารของไทย" เลขาธิการ มกอช.กล่าว