กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--คต.
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรีไปแล้วกับหลายประเทศ ทำให้การส่งออกของไทยมีการขยายตัวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การส่งออกไปออสเตรเลีย ในปี 2550 มีมูลค่า 6,140 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขยายตัวสูงกว่าในปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 40 หรือในส่วนของการส่งออกไปนิวซีแลนด์ มีการขยายตัวสูงขึ้นจากปี 2549 กว่า 25% สำหรับอินเดียที่เปิดการค้าเสรีสินค้าเพียง 82 รายการ มูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวก็มีการขยายตัวที่สูงถึงร้อยละ 11 เช่นกัน และในกรณีการค้ากับจีน ไทยมีการส่งออกไปจีนคิดเป็นมูลค่ากว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีการขยายตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 35 และล่าสุดที่ไทยเปิดการค้าเสรีกับญี่ปุ่น (JTEPA) ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นในช่วง 2 เดือนแรก (พฤศจิกายน — ธันวาคม) มีมูลค่า 3,553 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปี 49 ถึงร้อยละ 21 อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกของไทยจะมีการขยายตัวสูงขึ้นก็ตาม แต่ผู้ประกอบการ ยังมีการขอใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีไม่มากเท่าที่ควร โดยในปี 2550 มีอัตราการใช้สิทธิเฉลี่ยเพียง 27% รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเร่งใช้สิทธิให้มากกว่าเดิม เนื่องจากยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ได้สิทธิลดภาษี อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง พรม และอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรีมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งหากมีสินค้าบางรายการได้รับผลกระทบและจำเป็นต้องมีการปรับตัว ก็สามารถยื่นโครงการขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงพาณิชย์ได้ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีกองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยในปี 2550-2551 มีงบประมาณรวม 140 ล้านบาท และได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือไปแล้ว อาทิ โครงการในการพัฒนาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์โคเนื้อ โครงการเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้า โครงการประกันคุณภาพและมาตรฐานสินค้า รวม 9 โครงการ เป็นมูลค่ากว่า 46 ล้านบาท
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อไปว่า การเปิดเสรีทางการค้าจะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันไทยกับอาเซียนร่วมเจรจาการค้าเสรีกับหลายประเทศ และคาดว่าจะสามารถลงนามได้ในปี 2551 ได้แก่ อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ นอกจากนี้ ยังมีกรอบความตกลง FTA อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา อาทิ อาเซียน-อียู ซึ่งหากความตกลงมีผลใช้บังคับแล้ว จะช่วยให้ผู้ประกอบการและสินค้าไทย มีแต้มต่อเหนือกว่าประเทศอื่น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย