กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท. สผ.) ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ความเข้มแข็งของปริมาณสำรองปิโตรเลียม และการสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการถือสัมปทานปิโตรเลียม อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแรงและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งแม้ว่าบริษัทจะมีแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและมีรายจ่ายจากแผนการลงทุนที่สูงในช่วงปี 2551-2552
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่า ปตท. สผ. จะยังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้แม้จะมีแผนการลงทุนในระดับสูงในระหว่างปี 2551-2552 ความเสี่ยงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและความท้าทายในการจัดหาปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มเติมได้รับการชดเชยบางส่วนจากราคาปิโตรเลียมที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านการดำเนินงานและด้านการเมืองจากโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในต่างประเทศ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ปตท. สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระดับแนวหน้าของประเทศ บริษัทก่อตั้งในปี 2528 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อถือสิทธิ์สัมปทานปิโตรเลียมในนามของรัฐบาลไทย ณ เดือนมกราคม 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติถือหุ้นใน ปตท. สผ. จำนวน 65.7% ทั้ง ปตท. และ ปตท. สผ. ยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณของไทย ในฐานะรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐที่ทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท. สผ. จึงมักได้รับประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการสัมปทานปิโตรเลียมที่สำคัญๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปตท. สผ. มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วทั้งหมดซึ่งรวมแหล่งน้ำมันในต่างประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2550 สูงถึง 946 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อพิจารณาจากประมาณการการผลิตที่ระดับ 220,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันแล้ว ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของ ปตท. สผ. น่าจะสามารถนำมาผลิตใช้ได้นานประมาณ 12 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณสำรองปิโตรเลียมของผู้ประกอบการระดับโลกที่มีค่าเฉลี่ยระหว่าง 10-15 ปี ณ สิ้นปี 2550 บริษัทมีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 38 โครงการ โดย 12 โครงการอยู่ในขั้นตอนการผลิต และที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการสำรวจและพัฒนา เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นแล้ว ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ปตท. สผ. จัดว่าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการผลิต (Lifting Cost) ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.82 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2548 เป็น 2.33 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2550 ถึงแม้ว่าบริษัทมีต้นทุนเฉลี่ยในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาสิ้นสุด ณ ปี 2550 เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 12.11 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับต้นทุนของผู้ประกอบการระดับโลก
ฐานะทางการเงินของ ปตท. สผ. ยังคงมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก ในปี 2550 บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น 5.1% เป็น 90,764 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5% เป็น 28,455 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 อยู่ในระดับแข็งแรงที่ 14.8% อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับ 79.3 เท่าในปี 2550 ในขณะที่ยังคงมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายในระดับสูงที่ 70%-73% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แผนการลงทุน 5 ปีของบริษัท (2551-2555) ซึ่งจะใช้เงินทุนรวม 286,898 ล้านบาทนั้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งประมาณ 67% ของแผนเป็นค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโครงการในประเทศ เมื่อพิจารณาจากงบลงทุนที่ประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2551-2552 และประมาณการกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทที่ 45,000-50,000 ล้านบาทต่อปีแล้ว บริษัทน่าจะสามารถลงทุนโดยใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนการจัดหาเงินกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาทต่อปีนั้นจะไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องในระดับสูงจากการมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นรวมทั้งสิ้นอีก 24,013 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ทริสเรทติ้งกล่าว