iTAP เสริมทฤษฎีและทักษะช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักร เน้นรู้จริง ปฏิบัติจริง อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ

ข่าวทั่วไป Tuesday March 18, 2008 08:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--สวทช.
ตามที่ทีมผู้เชี่ยวชาญของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ได้เข้าวินิจฉัยสถานประกอบการเพื่อทำโครงการให้ความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้านงานซ่อมบำรุงเครื่องจักร ซึ่งเกือบทั้งหมดของสถานประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ถือได้ว่ามีมาตรฐาน ปรากฏว่าผู้ทำหน้าที่ช่างซ่อมบำรุงยังขาดความรู้ ความเข้าใจในทฤษฎีและทักษะที่จำเป็นต่องานซ่อมบำรุงเครื่องจักรเป็นอย่างมาก ทำให้การดูแลรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรจะเป็น จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้แก่บุคลากรกลุ่มนี้ก่อนเพื่อให้สถานประกอบการสามารถดูแลตนเองได้ก่อนในเบื้องต้น รวมทั้งเป็นการวางฐานที่สำคัญ
ด้านบุคลากรให้กับหน่วยงานในด้านความรู้ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดูแลรักษาเครื่องจักร ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกละเลยมาตลอด
ดังนั้น ทางโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จัดอบรมเรื่อง “เทคโนโลยีสำหรับช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักร” ภายใต้โครงการ “การส่งเสริมและสนับสนุนงานซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรอย่างเป็นระบบของอุตสาหกรรมไทย” เพื่อช่วยพัฒนาบุคลากรด้านงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้มีศักยภาพ รวมทั้งช่วยยกระดับให้กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับสถานประกอบการโดยรวม
อาจารย์พงษ์ศักดิ์ จตุรนาคากุล สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหการ หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญงานซ่อมบำรุงเครื่องจักร ประจำโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) กล่าวว่า ในทุกอุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตทั้งสิ้น แต่ลักษณะของเครื่องจักรจะแตกต่างกันไปตามกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมนั้น ๆ อย่างไรก็ตามโครงสร้างและหลักการทำงานพื้นฐานของเครื่องจักรจะคล้ายคลึงกัน การดูแลรักษาเครื่องจักรขั้นพื้นฐานจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง บุคลากรผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาเครื่องจักรคือ ผู้ใช้และช่างซ่อมบำรุง จึงควรได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้เครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน จึงเห็นว่าในขั้นต้นควรพัฒนาให้ความรู้ด้านเทคนิคพื้นฐานที่จำเป็นในงานบำรุงรักษาแก่บุคลากรเหล่านั้น
“เราพบว่าโดยส่วนใหญ่ในแต่ละสถานประกอบการมักจะขาดในเรื่องของเทคนิคพื้นฐาน หรือบางแห่งก็ไม่มีเลย บางคนได้แต่ทฤษฎีแต่ปฎิบัติจริงไม่ได้ก็ถือว่าล้มเหลว ทักษะตรงนี้ต้องอาศัยเวลา ประสบการณ์ และความชำนาญ ซึ่งเราพยายามสร้างบุคลากรตรงนี้ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ผลงานที่ผ่านมาเราสามารถทำได้จริง ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ได้นำความรู้ เทคนิคต่างๆ ไปก่อให้เกิดประโยชน์มากมายในแวดวงอุตสาหกรรม
อาจารย์พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่างานซ่อมบำรุงเครื่องจักรเป็นงานที่ต้องอาศัยสรรพวิชา ฉะนั้น สิ่งที่ต้องตระหนักนอกเหนือจากความรู้ ความเข้าใจ และการนำไปใช้แล้ว ยังต้องคำนึงถึงเรื่องของปัญหาในงานซ่อมบำรุงและแนวทางแก้ไขอีกด้วย ซึ่งเจ้าของสถานประกอบการจะต้องตระหนักให้มาก ซึ่งปัญหาในงานที่มักพบคือ การขาดสำนึกไม่เห็นความสำคัญ การเกี่ยงงานกันระหว่างฝ่ายผลิตกับฝ่ายซ่อมบำรุง การขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ขาดความรู้ ความชำนาญ ไม่รู้จริงในการซ่อมบำรุง การที่ไม่มีหน่วยซ่อมบำรุงที่เหมาะสมและเพียงพอ หรือถ้ามีก็ไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การที่ไม่ได้รับความเข้าใจจากผู้บังคับบัญชา ก็เป็นปัญหาให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งเราแก้ปัญหานี้โดยการให้บุคลากรทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ใช้กิจกรรมกลุ่มย่อยให้ทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหาให้หมดไป ฯลฯ
ทั้งนี้ หลักในการซ่อมบำรุงที่ดีนั้นจะต้องทำความเข้าใจกับเครื่องจักรให้ลึกซึ้ง เข้าใจถึงผลที่จะได้รับจากการมีระบบซ่อมบำรุงที่ดี เข้าใจธรรมชาติของการเสื่อมสภาพและต้นเหตุของการขัดข้อง ซึ่งปัจจัยของการเสื่อมสภาพมี 3 ปัจจัย คือ เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน เสื่อมสภาพจากการใช้งาน และเสื่อมสภาพจากภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังต้องประยุกต์ใช้งานระบบการซ่อมบำรุงได้อย่างเหมาะสม เข้าใจและรู้วิธีการควบคุม รวมทั้งการประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ
“ประโยชน์จากการที่ได้ให้ความรู้ ทักษะ และเทคนิคแก่ช่างซ่อมบำรุงนี้ได้ก่อให้เกิดผลดีอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย การหยุดของเครื่องจักรลดลง เวลาการเดินของเครื่องจักรเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักรเพิ่มขึ้น จำนวนของเสียลดน้อยลง ขณะที่ผลผลิตเพิ่มจำนวนมากขึ้น เวลาที่ใช้ในการซ่อมลดลง ค่าอะไหล่ลดลง รวมไปถึงการปฏิบัติงานและควบคุมต่างๆ ง่ายและสะดวกขึ้น สามารถส่งมอบสินค้าได้ตรงเวลา เพิ่มความปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ที่สำคัญส่งผลให้ขวัญและกำลังใจของพนักงานดีขึ้นไปด้วย” อาจารย์พงษ์ศักดิ์ กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ