บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศลงทุนเพิ่มในโรงผลิตไฟฟ้านวนคร ซึ่งเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์และไอน้ำ 5 ตันต่อชั่วโมง เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสำหรับการผลิตเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประมาณการเงินลงทุน 1,724 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินกู้และเงินทุนของผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 70:30 โดยจะเป็นเงินทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ประมาณ 200 ล้านบาท โครงการส่วนขยายนี้จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนธันวาคมปีนี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จเดินเครื่อง เชิงพาณิชย์ประมาณเดือนมิถุนายน 2567 ส่งผลให้โรงผลิตไฟฟ้านวนครมีกำลังการผลิตรวม 215 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ รวม 45 ตันต่อชั่วโมง
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับการลงทุนในประเทศไทยนอกจากโครงการพลังงานทดแทนแล้ว บริษัทฯ มุ่งเป้าหมายที่โครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP) ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งไม่เพียงเพื่อเสริมสร้างรายได้และมูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมพร้อมรองรับโอกาสการเติบโตในอนาคต ซึ่งภาคการผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนผ่านไปสู่โมเดลการผลิตเพื่อใช้เอง (Independent Power Supply: IPS) และผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง ปัจจุบัน บริษัทฯ มีพอร์ตการลงทุนโรงไฟฟ้าประเภท SPP รวม 7 โครงการ หากรวมการลงทุนครั้งนี้แล้วจะส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้กำลังการผลิตติดตั้งตามการถือหุ้น รวม 536.97 เมกะวัตต์ โดย 481.3 เมกะวัตต์ได้เดินเครื่องจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว
"โรงไฟฟ้าดังกล่าว ดำเนินงานโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 40, 30 และ 30 ตามลำดับ ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 185 เมกะวัตต์ และไอน้ำรวม 40 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี เมื่อกำลังการผลิตส่วนขยายครั้งนี้แล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตที่จะจำหน่ายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 125 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 45 ตันต่อชั่วโมง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ร่วมทุนกับกลุ่มนวนคร พัฒนาโครงการ IPS กำลังการผลิต 31.2 เมกะวัตต์ ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาด้วย สำหรับ โรงผลิตไฟฟ้านวนคร ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและมีความมุ่งมั่นผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีระบบการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 อีกทั้งยังได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 3: ระบบสีเขียว (Green System) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมด้วย นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของหน่วยผลิตไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์การลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัทฯ ด้วย" นางสาวชูศรี กล่าว
ในปี 2564 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากพอร์ตการลงทุนโรงไฟฟ้า SPP เป็นจำนวน 2,938 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7 ของรายได้รวม โดยเป็นรายได้จากโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น โรงผลิตไฟฟ้านวนคร โรงไฟฟ้าราชบุรีเวอล์ด โคเจนเนอเรชั่น โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น และโรงไฟฟ้าสหโคเจนชลบุรี
"บริษัทฯ ประมาณการว่า รายได้จากพอร์ตโรงไฟฟ้า SPP ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้จาก 3 โครงการในปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าสหโคเจน โรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง และส่วนขยายของโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น เมื่อเร็วๆ นี้ โรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง ได้เดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว" นางสาวชูศรี กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับโรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิตติดตั้ง 98 เมกะวัตต์ เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 โดยจำหน่ายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ ให้กับ กฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ดำเนินการควบคุมคุณภาพการก่อสร้างภายใต้มาตรฐานสากล รวมทั้งยังได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งด้านการผลิตและการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานของธนาคารโลกในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม