กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--กทม.
รองผู้ว่าฯ บรรณโศภิษฐ์ ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล โครงการศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติชายทะเลบางขุนเทียน และโครงการก่อสร้างรอดักตะกอน (T-Groins) และการปลูกป่าชายเลน พร้อมให้คำแนะนำเร่งรัดดำเนินการตามแผน
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักผังเมือง สำนักงานเขตบางขุนเทียน และผู้เกี่ยวข้อง ตรวจพื้นที่โครงการก่อสร้างถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล และโครงการก่อสร้างรอดักตะกอน (T-Groins) ตามโครงการป้องกันและแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะ เริ่มภารกิจการตรวจพื้นที่ด้วยการรับฟังการบรรยายสรุปความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ที่สำนักงานโครงการบริเวณ กม.6.5 โดยสำนักการโยธาแล้วนั่งรถตรวจพื้นที่ก่อสร้าง จากนั้นรับฟังการบรรยายสรุปโครงการศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติชายทะเลบางขุนเทียน และโครงการก่อสร้างรอดักตะกอน (T-Groins) และการปลูกป่าชายเลน พร้อมให้คำแนะนำและเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ต่อจากนั้นลงเรือตรวจสถานที่ก่อสร้างและบริเวณปลูกป่าบริเวณชายทะเลบางขุนเทียน
สถานการณ์ของการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนเกิดจากการทรุดตัวของแผ่นดิน การกัดเซาะโดยคลื่น และจากการเคลื่อนตัวพาตะกอนตามชายฝั่ง ส่วนใหญ่ตะกอนบริเวณนี้จะถูกป้อนมาจากตะกอนในแม่น้ำเจ้าพระยา และถูกพัดพามาโดยคลื่นและกระแสน้ำขึ้น/น้ำลงในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนี้ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนยังปกคลุมด้วยป่าชายเลนที่ถูกกัดเซาะต่อเนื่องและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้สภาพชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนไม่มีเสถียรภาพในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยคาดว่าภายใน 10 ปี ป่าชายเลนที่เหลืออยู่จะถูกทำลายทั้งหมด ประชาชนต้องสูญเสียที่ดินทำกินริมชายฝั่งมากกว่า 50 เมตร ภายใน 10 ปี หากมิได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขโดยเร่งด่วน
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ที่ปรึกษาได้เสนอให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างรอดักตะกอนรูปตัวที T-Groins เพื่อการป้องกันยับยั้งการกัดเซาะชายฝั่ง และเพื่อดักจับดินตะกอนเพิ่มเติมให้ชายฝั่ง และปลูกป่าไม้ชายเลนเพิ่มเติมให้เกิดความสมบูรณ์ของป่าชายเลนและมีความหนาเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 100-300 เมตร เพื่อเป็นแนวป่ากันชนและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป เนื่องจากเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดของการแก้ไขและป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนอย่างยั่งยืนสำหรับแผนการปลูกป่าชายเลนแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ปี 51-52 ปลูกป่าบริเวณด้านในของแนวชายป่าที่เหลือปัจจุบัน โดยปลูกให้เต็มพื้นที่และซ่อมเสริมในพื้นที่ว่าง โดยดำเนินการทันทีพร้อมกับการก่อสร้างรอดักตะกอนตัวที เมื่อก่อสร้างรอดักตะกอนเสร็จป่าไม้บริเวณนี้ก็จะเติบโตขึ้นพอดี ในระยะที่ 2 ปี 52-53 ปลูกป่าบริเวณพื้นที่ด้านหน้าของแนวป่าปัจจุบัน ออกไปจนถึงตำแหน่งของรอดักตะกอน เป็นแนวกว้าง 100-150 เมตร ซึ่งดำเนินการขณะที่การก่อสร้างรอดักตะกอนเสร็จแล้ว เพราะเมื่อรอดักตะกอนเสร็จจะชะลอคลื่น และกระแสน้ำ เกิดดินตะกอนมาตกที่ขาของรอดักตะกอน ทำให้สามารถปลูกป่าได้ และระยะที่ 3 ปี 53-54 เป็นการปลูกป่าจากตำแหน่งของรอดักตะกอนออกไปจนถึงแนวหินทิ้งที่สำนักงานเขตบางขุนเทียนสร้างไว้ก่อนหน้านี้ โดยเมื่อก่อสร้างรอดักตะกอนเสร็จ ดินตะกอนจะตกเพิ่มขึ้น การปลูกป่าจะช่วยยึดดินตะกอนไม่ให้ถูกกัดเซาะอีก ทั้งนี้เมื่อปลูกป่าทั้ง 3 ระยะแล้วจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ไร่ รวมกับป่าปัจจุบันจะมีพื้นที่รวมกว่า 1,600 ไร่ และมีความหนาของแนวป่าไม้กว่า 300 เมตร ทำให้เป็นแนวป่ากันชนธรรมชาติที่สมบูรณ์
ด้านการก่อสร้างรอดักตะกอนตัวที (T-Groins) จะก่อสร้างขนาดความยาวตัวละ 200 เมตร ความยาวหัวที 200 เมตร จำนวน 8 ตัว และรอดักตะกอนรูปตัวแอล (L-Groins) อีก 2 ตัว ซึ่งตัวแรกและตัวสุดท้ายเป็นตัวแอล อีก 8 ตัวกลางเป็นตัวที โดยการก่อสร้างทำเป็นถุงทรายมีฟูกทรายรองพื้น รายละเอียดตำแหน่งและโครงสร้างอยู่ระหว่างออกแบบ คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 52