PLUS เคาะไอพีโอ 4.50 บาท/หุ้น จองซื้อ 11-13 พ.ค.นี้ ฤกษ์ดีเทรด SET 20 พ.ค. 65

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 9, 2022 17:24 —ThaiPR.net

PLUS เคาะไอพีโอ 4.50 บาท/หุ้น จองซื้อ 11-13 พ.ค.นี้  ฤกษ์ดีเทรด SET 20 พ.ค. 65

"บมจ.โรแยล พลัส หรือ PLUS" เคาะราคาขายไอพีโอหุ้นละ 4.50 บาท เตรียมเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 11-13 พฤษภาคมนี้ ได้ฤกษ์ดีเข้าเทรด SET วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ด้านที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำอันเดอร์ไรท์ฯ มั่นใจนักลงทุนให้การตอบรับคึกคัก อีกทั้ง PLUS เป็นอีกหุ้นเติบโตโดดเด่นหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เดินหน้าส่งออกผลิตภัณฑ์รับเทรนด์การเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มในตลาดโลก พร้อมนำเงินระดมทุนขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม จ่ายคืนหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคตและหนุนแผนโตก้าวกระโดดได้ในอนาคต

ล่าสุด PLUS ได้ลงนามแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมด้วยผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 5 แห่ง คือ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด , บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) , บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด

นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยถึง การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของบริษัท โรแยล พลัส จำกัด (มหาชน) จำนวน 170 ล้านหุ้น ได้กำหนดราคาเสนอขายที่ 4.50 บาท/หุ้น กำหนดเปิดให้จองซื้อในวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2565 และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ในชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า "PLUS"

สำหรับราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 4.50 บาท ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม คิดเป็นอัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Enterprise Value to EBITDA Ratio: EV/EBITDA) ที่ประมาณ 15.3 เท่า โดยคำนวณจากกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564) สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของ PLUS ด้วยผลประกอบการที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้ PLUS เป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไปหลากหลายทวีปทั่วโลก โดยสัดส่วนรายได้จากการส่งออกในปี 2563 และ 2564 อยู่ที่ 98.9% และ 98.5% ตามลำดับ โดยมีประเทศคู่ค้าหลักอยู่ในทวีปต่าง ๆ ได้แก่ ทวีปอเมริกา, ทวีปเอเชีย และทวีปยุโรป ส่งผลให้มีรายได้จากการขายอยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศในสัดส่วนสูง ซึ่งแม้ว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าตั้งแต่ปี 2561 แต่รายได้ของ PLUS ระหว่างปี 2561 - 2564 ยังสามารถเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 8.5% สาเหตุจากกลยุทธ์ของ PLUS ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็ว รวมถึงการขยายฐานลูกค้าสำหรับตลาดใหม่ นำเสนอสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ PLUS ยังได้รับการรับรองคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลหลายรายการ ได้แก่ ISO 22000, FSSC 22000, GMP, HACCP และ U.S. FDA Standard, Halal การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จึงเป็นการสนับสนุนและพัฒนา เพื่อรองรับโอกาสเติบโตในอนาคต

และเชื่อมั่นว่า PLUS จะเป็นหุ้นคุณภาพที่เติบโตไปพร้อมกับเทรนด์การเติบโตของเครื่องดื่มสุขภาพทั่วโลก คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพทั่วโลกจะเติบโตประมาณ 6.1% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2564 - 2567) แม้จะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา แต่จากสถานการณ์ที่ผ่อนคลายลง ทำให้เชื่อว่า PLUS จะได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน และเล็งเห็นถึงโอกาสการขยายธุรกิจในอนาคต

นายพลแสง แซ่เบ๊ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท โรแยล พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ PLUS ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำผลไม้ และเครื่องดื่มต่างๆ กล่าวถึง การเสนอขายหุ้น IPO ของ PLUS ในครั้งนี้ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวนประมาณ 765 ล้านบาท ลงทุนในโครงการขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม จ่ายคืนหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานของบริษัทเข้าสู่มาตรฐานสากล เพิ่มความน่าเชื่อถือในด้านภาพลักษณ์ ให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและคู่ค้า รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งนี้ จะพิจารณาการใช้เงินทุนหมุนเวียนในกิจการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น และเพื่อการเติบโตในอนาคต

PLUS ประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม โดยมีสินค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มน้ำผลไม้และกลุ่มเครื่องดื่มทั่วไป โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มรับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer หรือ OEM) นอกจากนี้ PLUS ได้พัฒนาและทำการตลาดสินค้าแบรนด์ที่ PLUS พัฒนาเอง (Company Brand) อีกด้วย ทั้งนี้ PLUS มีกลยุทธ์ทางธุรกิจในการส่งออกสินค้าไปทั่วโลก ส่งผลให้รายได้จากการขายอยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศเป็นสัดส่วนสูง

PLUS มีเป้าหมายที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ของตัวเองอย่างน้อยปีละ 2 ผลิตภัณฑ์ เนื่องจาก PLUS เพื่อสร้างแบรนด์ และสนับสนุนความสามารถในการรับรู้กำไรที่สูงขึ้น และการบริหารวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถใช้วัตถุดิบหลักในกลุ่มเดียวกันกับสินค้าที่ผลิตให้ลูกค้าได้ ตลอดจน อำนาจต่อรองในการสั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณมากขึ้นและประโยชน์ที่ได้จากการประหยัดเนื่องจากขนาด (Economies of Scale) โดย PLUS เริ่มพัฒนาและทำการตลาดสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองตั้งแต่ปี 2557 และในปี 2564 PLUS ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 รายการคือ ชานมผสมไข่มุกบุกแบรนด์ MABU และเครื่องดื่มวิตามินแบรนด์ C-Boom

ปัจจุบัน PLUS อยู่ในระหว่างการพัฒนาเครื่องดื่มที่ทำจากพืช (Plant-Based Drinks) หลายชนิดเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพและชื่นชอบวัตถุดิบธรรมชาติ (Natural Ingredients)

นอกจากนี้ PLUS มีแผนที่จะนำสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองที่ได้รับความนิยมในแต่ละประเทศไปจำหน่ายในประเทศที่มีลูกค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน รวมถึงขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์หรือยอดการส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจากการวางแผนการขายและการตลาด พบว่าความต้องการสินค้าของ PLUS ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลกับต้นทุนค่าขนส่งของลูกค้าปลายทางและการหาพื้นที่สายเรือ PLUS จึงใช้กลยุทธ์ "Focus Customers" ในการมุ่งเน้นการขายไปที่ภูมิภาคที่มีผลกระทบจากสายเรือที่น้อยกว่า เช่น ภูมิภาคเอเชีย ประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV และประเทศไทย กอปรกับทำกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายใหญ่ที่มีผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว และการติดตามการจองสายเรือกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดส่งสินค้าของลูกค้าให้เป็นไปตามกำหนด

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2561-2564) มีรายได้จากการขาย 786.4 ล้านบาท 891.5 ล้านบาท 1,102.8 ล้านบาท และ 1,003.2 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมะพร้าว และคำสั่งซื้อของลูกค้าทวีปอเมริกาเพิ่มขึ้น ขณะที่มีกำไรสุทธิ 1.3 ล้านบาท 11.7 ล้านบาท 57.2 ล้านบาท และ 85.6 ล้านบาทตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 0.2% 1.3% 5.2% และ 8.5% ตามลำดับ จากการบริหารจัดการการผลิต ต้นทุน และการดำเนินการที่ดีขึ้นทำให้ความสามารถในการทำกำไรปรับตัวดีขึ้น

โครงสร้างผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยกลุ่มนายพลแสง แซ่เบ๊ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วนก่อนและหลัง IPO ที่ 77.7% และ 57.9% ตามลำดับ และผู้ถือหุ้นอื่นๆ ถือหุ้นรวมกัน ในสัดส่วนก่อนและหลัง IPO ที่ 22.3% และ 16.7% ตามลำดับ


แท็ก ไอพีโอ   SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ