บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL ที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ PTL สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจแผ่นฟิล์มพลาสติกโพลีเอสเตอร์ (PET Film) ของบริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความต้องการที่มีเสถียรภาพของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทขาย การกระจายตัวของฐานการผลิตและรายได้จากการจำหน่ายสินค้าไปในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ถูกลดทอนจากการที่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นแผ่นฟิล์มมาตรฐาน (Standard Film) ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commoditised Nature) ทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์มีความผันผวน ในตลาดที่มีผู้แข่งขันหลายราย รวมถึงการที่ขนาดของธุรกิจของบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ผู้นำในธุรกิจแผ่นฟิล์มพลาสติก: บริษัทแม่ Polyplex Corporation Limited หรือ Polyplex Group เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจ PET Film ของโลก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 5-7 ในตลาด PET Film ชนิดบาง Polyplex Group มีกำลังการผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติก เทียบเท่ากับของผู้ผลิตในระดับโลก เช่น Toray และ Mitsubishi แต่บริษัทเหล่านี้มีการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า PTL นอกจากนี้ PTL ยังมีสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มเกรดพิเศษ (Specialty Film) ที่มีความผันผวนของราคาที่ต่ำกว่า น้อยกว่าคู่แข่งเหล่านี้ด้วย
การผลิตและการจำหน่ายที่กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ: PTL มีฐานการผลิตอยู่ 4 แห่งกระจายตัวอยู่ในตลาดหลักใน 3 ภูมิภาค ซึ่งได้แก่ ไทยและอินโดนีเซีย (เอเชีย) สหรัฐอเมริกา (อเมริกาเหนือ) และตุรกี (ยุโรป) การกระจายฐานการผลิตไปในภูมิภาคต่างๆ จะช่วยลดผลกระทบจากความต้องการใช้สินค้าที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลในแต่ละภูมิภาค และช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานที่เกิดจากการหยุดการผลิตของโรงงาน นอกจากนี้ การที่แหล่งการผลิตอยู่ใกล้กับตลาด ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ความเสี่ยงจากการขนส่งที่หยุดชะงัก และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ความต้องการสินค้ามีมากกว่ากำลังการผลิตซึ่งต้องมีการนำเข้าสินค้า เช่น ภูมิภาคอเมริกาเหนือ และยุโรป
สัดส่วนของฟิล์มมาตรฐานที่อยู่ในระดับสูง: PTL มีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาขายผลิตภัณฑ์ และการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มมาตรฐาน ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 61 ของยอดขายรวมของบริษัทฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบการเงิน 2565 ถึงแม้ว่ารายได้จากผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value-added Films) จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ฟิทช์คาดว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของ PTL จะยังคงเป็นแผ่นฟิล์มมาตรฐาน ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตแผ่นฟิล์มมาตรฐานในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาดังกล่าว
สัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงที่เพิ่มขึ้น: กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ต่อ ปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ขาย (EBITDA per kg) (ไม่รวมเรซิน) เพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 20 บาท ต่อ กิโลกรัม ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบการเงิน 2565 จาก 13 บาท ต่อ กิโลกรัม ในปี งบการเงิน 2561 เนื่องจากยอดขายของสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (value-added products) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 39 ของยอดขายรวมของบริษัทฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบการเงิน 2565 จากร้อยละ 28 ในปีงบการเงิน 2561 และการผลิตจากโรงงานใหม่ในประเทศอินโดนีเซียที่มีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูง ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายที่ร้อยละ 16 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบการเงิน 2565 อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ต่อ ปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ขาย อาจปรับตัวลดลงในปีงบการเงิน 2566 จากสัดส่วนการขายที่เพิ่มขึ้นของแผ่นฟิล์มมาตรฐานที่มีกำไรต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ฟิล์มชนิดอื่น แต่ก็จะยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับปีงบการเงิน 2562 และ 2563
การพิจารณาความเชื่อมโยงกับบริษัทแม่: ฟิทช์ได้พิจารณาผลกระทบจากบริษัทแม่ หรือ Polyplex Group ต่ออันดับเครดิตของ PTL ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) ฉบับใหม่ ฟิทช์พิจารณาว่าสภานะทางเครดิตของ PTL อยู่ในระดับเดียวกันกับบริษัทแม่ ดังนั้นสถานะทางเครดิตของบริษัทแม่จึงไม่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ PTL ฟิทช์พิจารณาสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทแม่ โดยพิจารณารวมสถานะทางการเงินของ PTL ตามสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อสะท้อนการถือหุ้นจำนวนร้อยละ 51 โดย Polyplex Group
การเติบโตจากการขยายกำลังการผลิต: ฟิทช์คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) ของ PTL จะเติบโตประมาณร้อยละ 14 ในปีงบการเงิน 2566 (สิ้นสุด เดือนมีนาคม 2566) จากการขยายกำลังการผลิต และความต้องการผลิตภัณฑ์สำหรับบรรจุภัณฑ์ และภาคอุตสาหกรรม ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทได้เริ่มเดินสายการผลิตใหม่สำหรับแผ่นฟิล์ม Biaxially Oriented Polypropylene (BOPP) ในประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งมีกำลังการผลิต 60,000 ตันต่อปี (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 18 ของกำลังการผลิตปัจจุบัน) และมีแผนขยายกำลังการผลิตแผ่นฟิล์มในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวนประมาณ 50,000 ตันต่อปี ในช่วงปีงบการเงิน 2567 (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 13 ของกำลังการผลิตปัจจุบัน)
ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่อง: ประมาณร้อยละ 67 ของรายได้ของ PTL มาจากภาคบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล และ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสุขอนามัย ซึ่งความต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าการเติบโตจากภาคบรรจุภัณฑ์อาจกลับมาสู่ภาวะปกติในปีงบการเงิน 2566 ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมสำหรับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และการใช้แผ่นฟิลม์ในอาคารและการก่อสร้าง น่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ปัจจัยดังกล่าวน่าจะทำให้ PTL สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และลดการกระจุกตัวในภาคบรรจุภัณฑ์
สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจาก หนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ของ PTL ที่ 0.2 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 น่าจะทำให้บริษัทมีความสามารถในการรองรับแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในปีงบการเงิน 2566 รวมถึงกรณีที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ได้ โดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต Net Debt/EBITDA ของ PTL อาจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 0.6 เท่า ในปีงบการเงิน 2566 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 0.1 เท่าในปีงบประมาณ 2567 หลังจากกำลังการผลิตใหม่ในประเทศสหรัฐฯ เริ่มดำเนินการผลิต
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
PTL มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติขั้นปลาย กลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า
PTL และ บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ดำเนินธุรกิจแปรรูปโพลีเมอร์และพลาสติก แต่มีธุรกิจปลายทางที่แตกต่างกัน EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่น้อยกว่า และมีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า อย่างไรก็ตาม EPG มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่า และผลิตภัณฑ์ของ EPG เป็นผลิตภัณฑ์ปลายทางที่จำหน่ายให้กับผู้ใช้งาน ทำให้กระแสเงินสดของ EPG มีเสถียรภาพมากกว่า และชดเชยขนาดของธุรกิจที่เล็กกว่า บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นอันดับเครดิตของบริษัททั้งสองจึงเท่ากัน
PTL และ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีสถานะทางธุรกิจและทางการเงินใกล้เคียงกัน KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่ KCE ดำเนินงานในอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนน้อยกว่า PTL โดยเน้นผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน
PTL มีสถานะทางธุรกิจใกล้เคียงกับ บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด หรือ HMC (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และมีสถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone credit profile) ที่ bbb+(tha)) เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม PTL มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า จึงทำให้มีอันดับเครดิตที่สูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ HMC อันดับเครดิตของ HMC ที่ A-(tha) ได้พิจารณารวมการปรับเพิ่มอันดับเครดิต 1 อันดับ จากแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในระดับปานกลางจากบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA+(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ)
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
- รายได้ของ PTL เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 33 ในปีงบการเงิน 2566 เนื่องปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น;
- EBITDA ของ PTL อยู่ที่ประมาณ 5.7 พันล้านบาท ในปีงบการเงิน 2566 (9 เดือนแรกของปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ 3.5 พันล้านบาท)
- การลงทุนรวมในปีงบการเงิน 2566-2567 ทั้งหมดประมาณ 4.9 พันล้านบาท
- จ่ายเงินปันผลร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- ฟิทช์คาดว่าการปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจาก PTL มี EBITDA อยู่ในระดับต่ำกว่าบริษัทอื่นที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า
- ในระยะยาว หากขนาดของธุรกิจใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้กระแสเงินสดมีเสถียรภาพมากขึ้น และอาจส่งผลให้มีการพิจาณาปรับเพิ่มอันดับเครดิต
ปัจจัยลบ:
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง หรือการลงทุนโดยใช้หนี้ที่เพิ่มขึ้น มากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ อัตราส่วน Net debt to EBITDA ของ PTL สูงกว่า 2 เท่า อย่างต่อเนื่อง
- EBITDA margin ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 15 อย่างต่อเนื่อง (ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 23)
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: PTL มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยมีเงินสดจำนวน 2.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 เมื่อเทียบกับหนี้สินจำนวน 1.4 พันล้านบาทที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี PTL ยังมีวงเงินหมุนเวียนที่สามารถเบิกกู้ได้จำนวน 3 พันล้านบาท และ 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อรองรับการลงทุนขยายกำลังการผลิตในประเทศสหรัฐฯ
เกี่ยวกับบริษัท: PTLเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติกโพลีเอสเตอร์ชั้นนำ โดยมีฐานการผลิตในประเทศไทย อินโดนีเซีย และตุรกี