ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ UNDP ประเทศไทย และ มูลนิธิรักษ์ไทย ต่อยอด โครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า สนับสนุนอุปกรณ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อปรับภูมิทัศน์และเพิ่มความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว และร่วมทำซั้งปลากับกลุ่มประมงพื้นบ้าน เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล
เกาะเต่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับความนิยมในระดับโลก ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกาะแห่งนี้ไม่น้อยกว่า 3 แสนคน แต่ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ชุมชนประมงพื้นบ้านประสบปัญหา โครงการ "#UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า" จึงเกิดขึ้นเพื่อระดมทุนสาธารณะ ในรูปแบบ Crowdfunding ด้วยการรับบริจาคเงินผ่านระบบ e-Donation ของธนาคารกรุงไทย เพื่อนำไปจ้างคนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กเก็บขยะในทะเล และต่อยอดโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาเกาะเต่าอีกหลายโครงการ
สำหรับโครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า ในปีที่สองนี้ ให้ความสำคัญกับการพลิกฟื้นชุมชนให้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน สนับสนุนให้กลุ่มประมงทำซั้งปลาเพื่อสร้างรายได้ควบคู่กับการอนุรักษ์ การให้ความรู้ทางด้านการเงินกับชุมชนโดยธนาคารกรุงไทยเพื่อให้จัดการเงินได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการมอบอุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ และการเยี่ยมชมกิจการชุมชน เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในการสนับสนุนชุมชนในระยะยาว
นางแอนนาเบล ทรินิแดด ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสประจำโครงการ BIOFIN ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีช่องว่างเรื่องการเงินเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Finance) อยู่มาก แต่เราคาดหวังว่าความร่วมมือขององค์กรภาคี และการนำกลไกการเงินและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพมานำร่องแก้ไขปัญหาทางการเงินในระดับเทศบาลในครั้งนี้จะสามารถช่วยปิดช่องว่างเหล่านั้นได้
"ความมุ่งมั่นในการร่วมขับเคลื่อนโครงการ BIOFIN ของ UNDP ขององค์กรภาคี ซึ่งทางธนาคารกรุงไทย มูลนิธิรักษ์ไทย เทศบาลตำบลเกาะเต่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการร่วมผลักดันการอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างอย่างยั่งยืนต่อไปในประเทศไทย"
นางสาวบุญธิดา เกตุสมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า มูลนิธิรักษ์ไทยได้ศึกษาปัญหาร่วมกับเทศบาลตำบลเกาะเต่า และได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารกรุงไทย และ UNDP ในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนโดยการจ้างงานกลุ่มเรือรับจ้างขนาดเล็กในการเก็บขยะทางทะเล รวมทั้งได้ร่วมกันธนาคารกรุงไทยและ UNDPในการวางแผนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมกลุ่มอาชีพของชุมชน เช่น กลุ่มปลาตากแห้ง กลุ่มทำผ้ามัดย้อม และมีการต่อยอดในการทำซั้งปลากับกลุ่มประมงพื้นบ้านเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน รวมทั้งการปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลายหลายทางชีวภาพให้กับเยาวชน เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
นางสาวนวลศิริ ไวทยานุวัตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผลสำเร็จจากโครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า นอกจากทำให้ธนาคารได้รับรางวัลระดับสากลประเภท Great Practice ในเวที Global Corporate Sustainability Awards: GCSA 2021 จากไต้หวันแล้ว ธนาคารถือว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องด้านการใช้นวัตกรรมทางการเงินสนับสนุนโครงการที่สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และการยกระดับให้ชุมชนเกาะเต่าเป็นกรณีศึกษา ทั้งด้านการพัฒนาชุมชน และคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอกย้ำถึงการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น ธนาคารแห่งความยั่งยืน (Sustainable Banking) สร้างความเติบโตให้กับทุกภาคส่วนของสังคม ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงไทย UNDP ประเทศไทย มูลนิธิรักษ์ไทย และหน่วยงานภาครัฐในครั้งนี้บรรลุเป้าหมายพื้นฐานของธนาคารในการส่งเสริมการพัฒนาโซลูชั่นทางการเงิน ที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ซึ่งสนองความต้องการในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ การแก้ไขปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทย