'บมจ. ราช กรุ๊ป' หรือ RATCH เตรียมเปิดจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย 34.48บาทต่อหุ้น สะท้อนพื้นฐานธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มีความแข็งแกร่ง รวมถึงศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยเริ่มเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม (PPO) ที่ได้รับสิทธิจองซื้อพร้อมชำระเงินค่าหุ้นในระหว่างวันที่ 6 - 10 มิ.ย.นี้ ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH หรือ บริษัทฯ ผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำของประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญใหม่จำนวน 725,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) หุ้นละ 10 บาท โดยมีราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Offering Price) ที่ 34.48 บาทต่อหุ้น เพื่อออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (PPO) ในอัตราส่วนการเสนอขายต่อหุ้น 2 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญที่ออกใหม่ (ในกรณีที่มีเศษของหุ้นจากการคำนวณตามอัตราส่วนการจัดสรรหุ้น ให้ปัดเศษของหุ้นนั้นทิ้ง)หลังจากที่บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสม สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจโรงไฟฟ้าที่แข็งแกร่งและศักยภาพในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตของบริษัทฯ
การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ จะเริ่มเปิดให้จองซื้อและชำระเงินในระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2565 ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
"ราคาเสนอขายสุดท้ายของหุ้นเพิ่มทุนที่ราคา 34.48 บาทต่อหุ้น เป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและศักยภาพการเติบโตจากแผนการลงทุนที่ชัดเจน โดยมุ่งเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกและวิสัยทัศน์ขององค์กร ส่งผลให้ RATCH มีความสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว" นางสาวชูศรี กล่าว
กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์มุ่งขยายการเติบโตจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าไปสู่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และยกระดับองค์กรเป็น "บริษัทชั้นนำด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" ภายใต้กลยุทธ์หลักได้แก่ 1. บริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมให้ได้เต็มประสิทธิภาพ และบริหารโครงการระหว่างการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายและงบประมาณ 2. มุ่งเน้นพัฒนาโครงการด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งในตลาดที่มีธุรกิจอยู่แล้วและตลาดใหม่ 3. แสวงหาพันธมิตรเพื่อขยายการลงทุนโครงการด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน 4. สร้างมูลค่าเพิ่มโดยขยายการลงทุนสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องและธุรกิจอื่นๆ 5. เสริมขีดความสามารถภายในองค์กร
ทั้งนี้ RATCH มีลักษณะการดำเนินธุรกิจแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1.) ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ ที่มีการดำเนินงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี, โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์, โรงไฟฟ้าราชบุรีเวอลด์ โรงไฟฟ้านวนคร และโรงไฟฟ้าสหโคเจน (ชลบุรี) เป็นต้น และ กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซล่าเพาเวอร์โคราช 3, 4 และ 7, โรงไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง 2 และ 3 และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลสงขลาไบโอแมส นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม
2.) ธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ น้ำประปา รถไฟฟ้า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง รวมถึงธุรกิจโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และรองรับการคมนาคมให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว รวมถึงโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงเพื่อการติดต่อสื่อสาร
3.) ธุรกิจเกี่ยวเนื่องไฟฟ้าและพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การจัดหาวัตถุดิบ รวมไปถึงปลายทางในการบริการงานเดินเครื่องและการซ่อมบำรุงเครื่องจักรโรงไฟฟ้าและซ่อมกังหันก๊าซ รวมถึงลงทุนในนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องผ่านทาง InnoPower ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่ม กฟผ. สะท้อนให้เห็นถึงการไม่หยุดนิ่งเพื่อพัฒนาธุรกิจให้เป็นไปตามกระบวนการทำงานในการจัดการพลังงานและการบริการต่างๆ และพร้อมดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมถึงความพร้อมสำหรับเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงสุด และ
4.) ธุรกิจบริการสุขภาพ โดยบริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากมองเห็นศักยภาพในธุรกิจบริการสุขภาพที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว ทั้งจากสภาวะสังคมผู้สูงอายุและพฤติกรรมของผู้คนที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ เช่น ไวรัสโควิด - 19 ถือเป็นตัวเร่งการเติบโตที่สำคัญ เป็นต้น นอกจากนี้โมเดลการลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพที่มีความใกล้เคียงกับธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างมั่นคง เนื่องด้วยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป ซึ่งจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ทำให้เชื่อมั่นว่าบริษัทฯ มีความพร้อมในการจัดการความเสี่ยงและบริหารผลตอบแทนการลงทุนได้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล และยึดมั่นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการสร้างการเติบโตขององค์กร ควบคู่ไปกับการดูแลและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากแผนยุทธศาสตร์มุ่งพัฒนาพลังงานทดแทนสอดคล้องกับเมกะเทรนด์และทิศทางอุตสาหกรรมพลังงานของโลก โดยให้ความสำคัญด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในอนาคต