ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ที่ระดับ 'BBB+' และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ 'AAA(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ 'F1+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการออกหุ้นกู้ (Medium-Term Debenture Program) มูลค่าหุ้นกู้รวมไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท ที่ 'AAA(tha)'
อันดับเครดิตของปตท. สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ที่ระดับ 'bbb+' ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย ('BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) ของฟิทช์ อันดับเครดิตของปตท. จะยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย หากสถานะเครดิตโดยลำพังของปตท. ถูกปรับลงในอนาคต และฟิทช์พิจารณาว่าโอกาสในการได้รับการสนับสนุนภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตข้างต้นที่อยู่ในระดับสูงไม่มีการเปลี่ยนแปลง สถานะเครดิตโดยลำพังของปตท. สะท้อนถึงสถานะทางเครดิตที่มั่นคง จากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทแบบครบวงจร รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ
อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิต ที่แข็งแกร่งของปตท. น่าจะเพียงพอที่จะรองรับการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจตามแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยไม่กระทบต่อสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net debt to EBITDA) ของปตท. จะเพิ่มไปเป็นประมาณ 1.8 ถึง 2.0 เท่า ในปี 2565-2567 จาก 1.4 เท่าในปี 2564 เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกลับมาเป็นปกติ ฟิทช์มองว่าธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และเคมีภัณฑ์จะยังคงเป็นธุรกิจหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของปตท. ในปี 2565-2573 แม้ว่าปตท. มีแผนที่จะลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่ๆ รวมถึงธุรกิจอื่น นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน มากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ฟิทช์ได้พบข้อผิดพลาดในการพิจารณาอันดับเครดิตภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) สำหรับปตท. ซึ่งกำหนดว่า อันดับเครดิตสากลระยะสั้น (International Short-Term Issuer Default Rating) ของปตท. ควรจะเท่ากับอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของประเทศไทย เมื่ออันดับเครดิตสากลระยะยาวของปตท. เท่ากับอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทย
ฟิทช์ได้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของประเทศไทยเป็น 'F1' จาก 'F2' เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 แต่ไม่ได้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของปตท. ตาม ดังนั้น ฟิทช์ได้ทำการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของปตท. เป็น 'F1' จาก 'F2' โดยที่อันดับเครดิตอื่นๆ ทั้งหมดของปตท. รวมถึงสถานะเครดิตโดยลำพังที่ระดับ 'bbb+' ยังคงเหมือนเดิมหลังการแก้ไขข้อผิดพลาด
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ในระดับสูง: ฟิทช์ได้เปลี่ยนมุมมองในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อปตท. ให้อยู่ในระดับสูง ให้สอดคล้องกับการพิจารณาปัจจัยดังกล่าวสำหรับองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อื่นๆ ในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเซียแปซิพิค แม้ว่าภาครัฐฯ มีนโยบายให้ปตท. ดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ แต่ก็มีการควบคุมนโยบายการลงทุนและกลยุทธ์หลักๆ ในภาพกว้าง ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับสูง แม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทฯ เนื่องจากปตท. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะให้การสนับสนุนแก่ปตท. ในกรณีที่บริษัทมีความต้องการ เนื่องจากปตท. มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และเป็นตัวจักรสำคัญในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย
แรงจูงใจในการสนับสนุนในระดับสูง: ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่ปตท. ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูง เนื่อง จากจะส่งผลกระทบต่อการจัดหาก๊าซธรรมชาติสำหรับประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้า และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อการกู้ยืมของภาครัฐฯ ในกรณีที่ปตท. ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ ที่มีการกู้เงินและออกหุ้นกู้ในประเทศไทย ดังนั้นการผิดนัดชำระหนี้ของปตท. อาจจะมีผลกระทบต่อการกู้ยืมเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ และต้นทุนทางการเงินของภาครัฐฯ และองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อื่นๆ ด้วย
ราคาพลังงานที่สูงจะช่วยสนับสนุนผลประกอบการ: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของปตท. จะยังคงแข็งแกร่งที่ประมาณ 4.1 แสนล้านบาทในปี 2565 (ปี 2564 อยู่ที่ 4.2 แสนล้านบาท) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ฟิทช์คาดว่าปริมาณการขายของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในปี 2565 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม น่าจะช่วยชดเชยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรม ชาติขั้นปลาย ที่ฟิทช์คาดว่าน่าจะลดลง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติน่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะปรับตัวลดลงในปี 2565 เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่และอัตราการเติบโตของความต้องการที่ชะลอตัวลง
การลงทุนที่สูง: กลุ่มปตท. ได้มีการใช้เงินในการเข้าซื้อกิจการเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2565 โดยอยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเข้าซื้อกิจการของบริษัทลูกในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทฯ ในปี 2564 อยู่ต่ำกว่าที่ฟิทช์ประมาณการเอาไว้ เนื่องจากกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทฯ ฟื้นตัวอย่างมาก ฟิทช์คาดว่ากลุ่มปตท. จะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2565 (ในปี 2564 อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท) และเชื่อว่าปตท. จะยังคงมองหาการเข้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายธุรกิจและตลาด รวมถึงสนับสนุนแผนการเปลี่ยนถ่ายการใช้พลังงานที่มีคาร์บอนต่ำ
ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง: บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.; อันดับเครดิต BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในธุรกิจนี้ วางแผนที่จะเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีในช่วงห้าปีข้างหน้า และเพิ่มให้ถึงประมาณ 7 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันภายในปี 2573 (โดยในปี 2564 อยู่ที่ 495,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) บริษัทฯ จะยังคงเน้นการผลิตก๊าซธรรมชาติ (มีสัดส่วนร้อยละ 73 ของการผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดในปี 2564) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในระหว่างการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากแหล่งฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ
ดังนั้นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของ ปตท.สผ. จะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมน่าจะลดลง เนื่องจากบริษัทฯ ปรับนโยบายการสำรองปริมาณปิโตรเลียม โดยวางแผนที่จะรักษาปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อการผลิตของบริษัทฯ ในอยู่ที่ระดับมากกว่า 5 ปีจากเดิมที่ 7 ปี (ปี 2564 อยู่ที่ 7.5 ปี)
การขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว: ปตท. วางแผนที่จะเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas) สำหรับการใช้ในประเทศและเพื่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นประมาณ 9 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าภายใต้สัญญาการซื้อขายระยะยาว ปัจจุบัน ปตท. มีสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวอยู่ที่ 5.2 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ปตท. วางแผนที่จะสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติโรงที่แปด นอกเหนือจากการขยายสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal)
ธุรกิจพลังงานใหม่: ปตท. มีแผนที่จะกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจพลังงานใหม่ๆ เช่นพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถพลังงานไฟฟ้า รวมถึงไปยังธุรกิจใหม่ๆ เช่น วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและการแพทย์ (Life Science) เทคโนโลยีและดิจิตอล และการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 กลุ่มปตท. วางแผนที่จะลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่ๆ และธุรกิจใหม่ๆ คิดเป็นประมาณร้อยละ 32 ของแผนเงินลงทุนในปี 2564-2573 และวางเป้าหมายว่ากำไรสุทธิจากธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้จะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิทั้งหมดในปี 2573 จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับน้อยมาก
ผู้นำที่แข็งแกร่งในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ: ฟิทช์คาดว่า ปตท. จะยังคงเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในธุรกิจก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย แม้ว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้บริษัทอื่นๆ นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเข้ามาจัดจำหน่ายในประเทศ ก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำเข้าเหล่านี้จะถูกจัดจำหน่ายแก่ผู้ใช้ ผ่านสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว และระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบัน ปตท. เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว โดย ปตท. จะคิดค่าบริการตามที่หน่วยงานกำกับธุรกิจพลังงานเป็นผู้กำหนด นอกจากนี้ การที่ปตท. มีสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวกับผู้ผลิตในต่างประเทศ และมีประวัติการดำเนินงานในธุรกิจนี้อยู่แล้ว น่าจะทำให้บริษัทฯ มีความได้เปรียบในการแข่งขัน
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซที่มีความสม่ำเสมอ: สถานะทางการเงินของ ปตท. ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีความสม่ำเสมอ ซึ่งได้แก่ธุรกิจท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติและการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซ อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่มีความมั่นคง และสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ กำไรจากธุรกิจโรงแยกก๊าซและการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากกว่า เนื่องจากการปรับราคาของต้นทุนก๊าซธรรมชาติตามสัญญาการซื้อขายระยะยาว จะช้ากว่าการปรับราคาของราคาผลิตภัณฑ์
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของปตท. จะยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย หากสถานะเครดิตโดยลำพังของปตท. ถูกปรับลงในอนาคต ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ของฟิทช์ และฟิทช์พิจารณาว่าโอกาสในการได้รับการสนับสนุนภาย ใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตข้างต้นที่อยู่ในระดับสูง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ฟิทช์มองว่าสัดส่วนการถือหุ้นและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกันกับบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอื่นๆ ที่ถือหุ้นส่วนใหญ่โดยภาครัฐฯ ในภูมิภาคเอเซีย อาทิ Oil India Limited (อันดับเครดิต BBB- แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) และ Korea Gas Corporation (อันดับเครดิต AA- แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกันกับของ Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS, อันดับเครดิต BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) โดยแม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการสนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัททั้งสอง เนื่องจากมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะสนับสนุนทางการเงินให้ในกรณีที่บริษัทมีความต้องการ
ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่บริษัทฯ ผิดนัดชำระหนี้ของ PETRONAS และ China National Petroleum Corporation's (CNPC, อันดับเครดิต A+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากบริษัททั้งสองมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจและภาครัฐฯ ของประเทศ ในขณะที่ของ ปตท. อยู่ในระดับสูง ซึ่งสะท้อนถึงการที่ ปตท. มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 40 ในธุรกิจน้ำมันและมีการแข่งขันจากผู้ประกอบเอกชนการรายอื่นด้วย
นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้อาจจะมีผลกระทบต่อการกู้ยืมของภาครัฐฯ และองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อื่นๆ ของ ปตท. อยู่ในระดับสูง แต่อยู่ในระดับต่ำกว่ากว่าเมื่อเทียบกับ PETRONAS และ CNPC ที่อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากบริษัททั้งสองมีสถานะเป็นผู้กู้ยืมที่ใกล้ความเป็นภาครัฐฯ มากกว่า ถึงแม้ว่า ปตท.จะเป็นรัฐวิสาหกิจรายหลักที่มีการกู้เงิน
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ราคา 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565, 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566, 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567 และ 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2568 และปีถัดๆไป
- ปริมาณการขายของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปีโดยเฉลี่ย ในปี 2565-2569 (ปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18)
- EBITDA จากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน (ไม่รวมกำไร/ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน) ฟื้นตัวในปี 2565
- EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจปิโตรเคมีลดลงปี 2565
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2565-2566 (2564 มีการลงทุนทั้งสิน 1.9 แสนล้านบาท)
- การจ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 50 ของกำไร
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตประเทศไทย หากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับประเทศไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยลบ - การปรับลดอันดับเครดิตประเทศไทย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท.:
- การลงทุนที่สูงโดยใช้เงินกู้ยืม หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วน FFO net leverage สูงกว่า 2.8 เท่า หรืออัตราส่วน Net debt to EBITDA สูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ปตท.
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคตของประเทศไทย ที่ได้ประกาศในรายงานลงวันที่ 20 ธันวาคม 2564
ปัจจัยบวก:
- ด้านเศรษฐกิจมหภาค: ความต่อเนื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
- ด้านหนี้สาธารณะ: แนวโน้มที่ดีในการลดหนี้สินของรัฐบาล (General Debt to GDP) หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าที่มีการใช้งบประมาณภาครัฐฯ เพิ่มขึ้น และ/หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง
ปัจจัยลบ: - ด้านหนี้สาธารณะ: การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของหนี้สินของรัฐบาล (General Debt to GDP) เมื่อเทียบกับที่ฟิทช์ประมาณการ เช่น เนื่องจากฐานะทางการคลังที่แย่ลง หรือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของหนี้สาธารณะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (contingent liabilities)
- ด้านโครงสร้าง: ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระดับที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของปตท. ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 3.4 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 เมื่อเทียบกับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 9.9 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้สภาพคล่องของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อที่สามารถเบิกใช้ได้จำนวน 7.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีภาระการชำระคืนหนี้ที่บริหารจัดการได้ โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 10.7 ปี
ข้อมูลของบริษัท
ปตท. เป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจรของประเทศไทย และเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในด้านรายได้ บริษัทดำเนินธุรกิจครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผ่านบริษัทลูกต่างๆ ได้แก่ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ธุรกิจจำหน่ายน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมี นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าอีกด้วย ปตท.มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ร้อยละ 63