บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ประจำปี 2565 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 11,181 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 6,797 ล้านบาท (155%) เนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้น 6,719 ล้านบาท (255.7%) มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 14,348 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 2,967 ล้านบาท จากปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 3,167 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 3,830 ล้านบาท (54.7%)
บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 จำนวน 3,243 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 8,962 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 3,247 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.49 บาท ในขณะที่ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ขาดทุนต่อหุ้น 5.59 บาท
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 162,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 1,204 ล้านบาท หนี้สินรวมมีจำนวน 236,909 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 4,439 ล้านบาท โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 74,486 ล้านบาท ติดลบเพิ่มขึ้นจำนวน 3,235 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ต่อเนื่อง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลจากการที่รัฐบาลนำมาตรการ Test and Go กลับมาใช้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารรวมเฉลี่ยของบริษัทฯ และสายการบินไทยสมายล์ในช่วง 10 วันแรกของเดือนพฤษภาคม 2565 เปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10,238 และ 10,870 คนต่อวันจาก 4,929 และ 269 คนต่อวัน สำหรับเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าเฉลี่ยต่อวันของบริษัทฯ กลับไปอยู่ในระดับร้อยละ 50 ของปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เป็นต้นไป การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบินไป-กลับในเส้นทางต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารทั่วโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกทยอยยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเดินทางเข้าประเทศสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ RT-PCR ในวันที่ 4-5 หลังจากเดินทางมาถึงสำหรับผู้โดยสารที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับแต่ยังไม่ครบตามเกณฑ์ ดังมีรายละเอียดเส้นทางบินที่มีการปรับเพิ่มความถี่และเปิดให้บริการใหม่ดังนี้
เส้นทางบินที่ปรับเพิ่มความถี่ในการให้บริการ
- เชนไน (อินเดีย) จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565
- เบงกาลูรู (อินเดีย) จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565
- นิว เดลี จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565
- มุมไบ จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565
- ละฮอร์ (ปากีสถาน) จาก 3 เป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- การาจี จาก 2 เป็น 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- อิสลามาบัด จาก 2 เป็น 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- ฮานอย จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- โฮจิมินห์ จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- พนมเปญ จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- เมลเบิร์น จาก 4 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 17 พฤษภาคม 2565
- ลอนดอน จาก 11 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 29 พฤษภาคม 2565
- จาการ์ตา จาก 3 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565
- ธากา (บังคลาเทศ) จาก 7 เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565
- แฟรงก์เฟิร์ต จาก 10 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 25 มิถุนายน 2565
- ไทเป จาก 4 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- สิงคโปร์ จาก 10 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- โคเปนเฮเกน จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- มิวนิก จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- ซูริก จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
เส้นทางบินที่เปิดให้บริการเพิ่มเติม ได้แก่
- ปีนัง 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- เวียงจันทน์ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- บาหลี (เดนปาซาร์) 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
เพิ่มเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 18 มิถุนายน 2565
- ไฮเดอราบัด วันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่ 13 พฤษภาคม 2565
- ย่างกุ้ง วันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565
- โตเกียว (ฮาเนดะ) วันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- เกาสง (ไต้หวัน) วันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- บรัสเซลส์ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม ถึง 30 สิงหาคม 2565
นอกจากการปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบินและการเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ข้างต้นแล้ว สายการบินไทยสมายล์ยังจะเปิดทำการบินในเส้นจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปกลับจังหวัดภูเก็ต จำนวน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไปอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงการบริการเพื่อมอบประสบการณ์ลูกค้าที่เหนือระดับอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้บริการห้องโดยสารชั้นหนึ่งในเที่ยวบิน TG910/911 ในเส้นทางลอนดอน และ TG600/601 ในเส้นทางฮ่องกง ด้วยเครื่องบินแบบ Boeing 777-300ER ลำใหม่ ด้วยที่นั่งที่กว้างขวางขึ้น จอภาพที่ใหญ่ขึ้น และระบบ สื่อสาระบันเทิงที่ครบครันกว่าพันรายการ พร้อมรังสรรค์เมนูอาหารนานาชาติ ที่ผลิตด้วยวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง รสเลิศ
พร้อมทั้งรายการเครื่องดื่มที่หลากหลายมากขึ้น จัดเตรียมไว้ต้อนรับผู้โดยสาร ในเที่ยวบินดังกล่าว อีกทั้งมีการปรับปรุงเมนู และการให้บริการอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ อาทิเช่นการเพิ่ม อาหารเรียกน้ำย่อย (Amuse-bouche) และเมนูอาหารว่างระหว่างเที่ยวบิน (All Day Dining) โดยมีการนำเมนูสตรีทฟู้ด ยอดนิยมของไทย เช่นผัดไทยเส้นจันท์ และข้าวเหนียวมะม่วง มาให้บริการในเส้นทางยุโรป เป็นต้น พร้อมกันนี้ผู้โดยสารในชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ และสมาชิก บัตรแพลทตินัม และบัตรทอง รอยัล ออร์คิด พลัส สามารถเลือกอาหารล่วงหน้าได้ก่อนเดินทางผ่านบริการ Pre Select Meal ที่เว็บไซต์ thaiairways.com
ในฐานะสายการบินแห่งชาติ การบินไทย มุ่งมั่นสนับสนุน สินค้าแบรนด์ไทยและเกษตรกรชาวไทยในการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อช่วยสร้างงานเสริมอาชีพ เช่น มีการร่วมมือกับโครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำกาแฟดอยตุงที่คั่วเป็นพิเศษสำหรับการบินไทยมาให้บริการในชั้นหนึ่ง และชั้นธุรกิจ และยังสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเช่น มีการนำช็อคโกแลต กานเวลา ช็อคโกแลตแบรนด์ไทยที่ได้รางวัลระดับโลก มาให้บริการในชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ ด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ บริษัทกำลังจะนำบริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (Inflight Wi-Fi) กลับมาให้บริการ พร้อมนำเสนอ ระบบหนังสือดิจิทัล (e-Reading Platform) สำหรับผู้โดยทุกชั้นบริการในเร็วๆนี้ เพื่อความสะดวกสบาย และสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ประทับใจ และยังได้เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทั้งในส่วนของสำนักงานบัตรโดยสารและเคาท์เตอร์เช็คอิน ฯลฯ
ทิศทางการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการเดินทางและขนส่งสินค้าข้างต้นที่ทำให้บริษัทฯ มีการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สภาพคล่องของบริษัทฯ ในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา