เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2565 ขยายตัว 2.2% YoY แนวโน้มทั้งปีวิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์เติบโตที่ 2.8% สภาพัฒน์ฯ เผย GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้เติบโตต่อเนื่องจาก 1.8% ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ปัจจัยหนุนสำคัญจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกภาคบริการจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ผนวกกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐกลับมาหดตัว ด้านภาคการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาเกษตรกลับมาขยายตัว ส่วนสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สาขาการขายส่ง ขายปลีก เติบโตชะลอลง ขณะที่สาขาก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจมีสัญญาณเชิงบวกจาก GDP ในไตรมาสแรกของปี ซึ่งเมื่อหักผลของปัจจัยทางฤดูกาลแล้วขยายตัว 1.1% QoQ sa ดีกว่าที่วิจัยกรุงศรีและผลสำรวจรอยเตอร์คาดไว้ที่ 0.8% และ 0.9% ตามลำดับ ผนวกกับแนวโน้มการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาด แต่ในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกและแรงกดดันจากภายใน จาก (i) ผลกระทบเชิงลบของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อเกินคาดและยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง (ii) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกไทยและภาวะชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต และ (iii) แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่เร่งขึ้น การลดการอุดหนุนจากภาครัฐ (อาทิ น้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้ม) และการทยอยลดลงของมาตรการพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ วิจัยกรุงศรีจึงยังคงประมาณการ GDP ปีนี้จะขยายตัวที่ 2.8% ขณะที่ล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เหลือเติบโต 2.5-3.5% จากเดิมคาด 3.5-4.5% และปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 4.2-5.2% จากเดิมคาด 1.5-2.5%
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคร่วงใกล้แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทางการเตรียมออกโครงการคนละครึ่งเฟส 5 พยุงการใช้จ่าย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายนปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ที่ 40.7 ถือเป็นระดับที่ต่ำรองจากเดือนสิงหาคม 2564 ที่ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 39.6 และเทียบกับ 42.0 ในเดือนมีนาคม 2565 สาเหตุสำคัญจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในช่วงเดือนเมษายนที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง ปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและน้ำมันเชื้อเพลิง
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 48.0 บ่งชี้ถึงอุปสงค์ภายในประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแอท่ามกลางแรงกดดันทางด้านราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูง จากผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครนที่ยืดเยื้อ มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่แรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพอมีปัจจัยบวกที่อาจช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายและฟื้นความเชื่อมั่นได้บ้างในระยะถัดไป หลังสถานการณ์การระบาดบรรเทาลง ทางการทยอยปรับลดระดับการแจ้งเตือนภัยโควิดเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ผนวกกับมาตรการรัฐเพื่อพยุงการใช้จ่ายในประเทศ โดยมีการขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ ขยับเป็นสิ้นสุดเดือนกันยายน 2565 (เดิมพฤษภาคม) รวมถึงมีการเตรียมออกโครงการคนละครึ่งเฟส 5
ข้อมูลเพิ่มเติม
วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home
อีเมล: krungsri.research@Krungsri.com