คงไม่มีใครที่อยากฟังผลตรวจร่างกายที่เหลือเพียงหนทางรอดแห่งปาฏิหาริย์ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่ถึงทางตัน
ด้วยความพยายามของมนุษย์ในการที่จะเอาชนะธรรมชาติรวมทั้งการเจ็บไข้ได้ป่วย จนทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่สามารถทำให้หลายโรคที่เคยเป็นโรคไม่มีวันรักษาหาย กลับกลายเป็นโรคที่มีหวัง สามารถรักษาให้ขาดได้ ซึ่งรวมทั้ง "โรคมะเร็ง" ที่ในอดีตเคยทำให้ผู้ป่วยแทบทุกรายต้องหมดหวังกับโอกาสรอดชีวิต
ด้วยความพร้อมของ ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็งศิริราช (Siriraj Center of Research Excellence for Cancer Immunotherapy; SiCORE-CIT) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อคืนชีวิตให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งมานานเกือบทศวรรษ จนสามารถค้นพบวิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดที-เซลล์ (T-cells) ที่ปัจจุบันเตรียมพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง
ศาสตราจารย์ ดร.เพทาย เย็นจิตโสมนัส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็งศิริราช(Siriraj Center of Research Excellence for Cancer Immunotherapy; SiCORE-CIT) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงวิธีการใช้ที-เซลล์รักษาโรคมะเร็งว่า สามารถทำได้โดยเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยมาแยกเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยต์(lymphocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเพื่อผ่านกระบวนการพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) หรือการดัดแปลงพันธุกรรมให้เซลล์ลิมโฟซัยต์ที่เพาะเลี้ยงรู้จักกับเซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น และทำให้แข็งแรง ก่อนใส่กลับในร่างกายผู้ป่วยเพื่อให้ไปต่อสู้กับเซลล์มะเร็งในร่างกายผู้ป่วย
กระบวนการดัดแปลงพันธุกรรมของเซลล์ลิมโฟซัยต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อดัดแปลงตัวรับสัญญาณของที-เซลล์ให้เป็นตัวรับสัญญาณแบบลูกผสมที่จำเพาะต่อแอนติเจนบนผิวของเซลล์มะเร็ง (เรียกว่า Chimeric Antigen Receptor (CAR) T-cells) ที-เซลล์ที่ได้รับการดัดแปลงตัวรับสัญญาณนี้ เรียกว่า คาร์ที-เซลล์ (CAR T-cells) ซึ่งเป็นยาที่มีชีวิต(living drug) สามารถพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง เพื่อรอการนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อไป
แม้ในวันนี้จะมีข่าวดีสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแล้วว่า เป็นมะเร็งชนิดที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้คาร์ที-เซลล์ ทีมวิจัยศูนย์ SiCORE-CIT ยังได้ขยายผลการศึกษาสำหรับใช้รักษามะเร็งชนิดอื่นๆ ต่อไปอีกด้วยโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองในสัตว์ทดลอง ก่อนจะพัฒนาสู่การทดลองจริงในมนุษย์ต่อไป และในขณะเดียวกันทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เตรียมสร้างห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับการผลิตคาร์ที-เซลล์ รวมทั้งเตรียมวางแผนสร้างศูนย์เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีการดังกล่าวต่อไปในอนาคตโดยคาดว่าทั้งหมดนี้จะแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี
แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีการใช้คาร์ที-เซลล์รักษามะเร็งให้หายขาดจะมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้มีการใช้เพียงในวงจำกัดเป้าหมายสูงสุดของศูนย์ SiCORE-CIT ต่อไปจะทำให้ผู้ป่วยไทยสามารถเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งจากผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูงที่ผลิตขึ้นได้เองในประเทศไทยโดยคนไทยต่อไปในอนาคตให้ได้อย่างแน่นอน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th