รมว.สุชาติ ร่วมเวทีถามมา - ตอบไปฯ เปิด มาตรการ ลดเหลื่อมล้ำ ยกระดับสวัสดิการ ดูแลแรงงานรับเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด

ข่าวทั่วไป Monday May 23, 2022 09:24 —ThaiPR.net

รมว.สุชาติ ร่วมเวทีถามมา - ตอบไปฯ เปิด มาตรการ ลดเหลื่อมล้ำ ยกระดับสวัสดิการ ดูแลแรงงานรับเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นวิทยากรร่วมเสวนาในหัวข้อ "ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับสวัสดิการ" ภายใต้การประชุมเสวนา"Better Thailand Open Dialogue ถามมา - ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม" โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมด้วย ณ รอยัล พารากอน ฮอล์สยามพารากอน ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

นายสุชาติ ได้กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งผู้ประกอบการต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้มีมาตรการรักษา เยียวยา ฟื้นฟู และบริหารจัดการแรงงาน ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย รักษาและกระตุ้นการจ้างงาน ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานสามารถมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ และนายจ้างสามารถประกอบธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ ผ่านโครงการต่างๆ ได้แก่ การใช้เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเยียวยาลูกจ้างที่ไม่ได้รับเงินตามกฎหมาย คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานปล่อยกู้ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการและในรัฐวิสาหกิจเพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับแรงงานที่เป็นสมาชิก เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ปรับเพิ่มประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานถูกเลิกจ้าง ลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง ปล่อยสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานแก่สถานประกอบการ โครงการ ม33 เรารักกัน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน เปิดจุดตรวจโควิด - 19 เปิดสายด่วน 1506 กด 6 ประสานจัดหาเตียง Hospitel ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด - 19 ผู้ใช้แรงงาน โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ลดอัตราเงินสมทบแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ,39,40 เยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิง และผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs โครงการ Factory Sandbox บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบกิจการ เป็นต้น

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานยังมีการบริหารจัดการให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครอง และการพัฒนาสมรรถนะแรงงาน เพื่อรองรับตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต โดยได้เสนอ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่แรงงานนอกระบบให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพได้รับการคุ้มครอง มีหลักประกันทางสังคม และรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรได้ การปรับปรุงกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นกองทุนแรงงานนอกระบบเพื่อให้แรงงานได้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ในด้านการส่งเสริมการมีงานทำได้เตรียมตำแหน่งงานว่างทั้งในประเทศและต่างประเทศเกือบ 3 แสนอัตรา ผ่านแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นไทยมีงานทำ พร้อมพบปะผู้นายจ้างประกอบการเพื่อรักษาตลาดเดิม ขยายตลาดแรงงานใหม่จัดส่งคนไทยไปทำงานไปยังต่างประเทศมากขึ้น อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ในด้านการพัฒนาสมรรถนะแรงงาน ได้ยกระดับและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานUp Skill Re - Skill และ New -Skill ฝึกอบรมการประกอบอาชีพผ่านระบบออนไลน์ การจัดหาแรงงานและพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ นอกจากนี้กระทรวงแรงงานยังได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคมตามแนวทางแผนการปฏิรูปประกันสังคม เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับบำเหน็จ บำนาญชราภาพ เป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ และนำเงินกรณีชราภาพที่ตนเองสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วนได้ ตลอดจนรองรับสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย

"กระทรวงแรงงาน มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานในทุกมิติ ด้วยการพัฒนาสมรรถนะแรงงานให้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ที่เหมาะสม ได้รับความคุ้มครอง มีหลักประกันทางสังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รองรับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจใหม่และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศและนโยบายเปิดประเทศฟื้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายหลังโควิดคลี่คลาย" นายสุชาติ กล่าวท้ายสุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ